วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
การใช้ภาษา
อนุทินกับจดหมายเหตุ

          ถ้าเอ่ยถึงคำว่า อนุทิน และคำว่า จดหมายเหตุ หลายคนคงรู้ความหมายของคำทั้งสองดีแล้ว แต่บางคนอาจรู้ความหมายเพียงคำใดคำหนึ่ง หรือบางคนอาจเพียงเคยได้ยินแต่ไม่แน่ใจว่าทั้ง ๒ คำดังกล่าวมีความหมายอย่างไร วันนี้จึงขอเสนอคำอธิบายความหมายของคำทั้งสอง ซึ่งสรุปความจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ และพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้

          อนุทิน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า diary หมายถึง บันทึกเรื่องราวรายวันที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ บุคคล ความคิด และความรู้สึก อนุทินมีลักษณะคล้ายกับจดหมายเหตุราชกิจ แต่แตกต่างกันที่อนุทินมีลักษณะส่วนตัวไม่ใช่ทางราชการ การเขียนอนุทินเป็นธรรมเนียมของตะวันตก และเป็นธรรมเนียมอย่างใหม่ในสังคมไทยที่เริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน การเขียนอนุทินนี้ยังอาจเป็นรูปแบบที่ใช้ในสารคดีท่องเที่ยวได้

          ส่วน จดหมายเหตุ มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า หนังสือบอกข่าวคราวที่เป็นไป รายงาน หรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เอกสารที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนผลิตขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานและเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

          คำว่า จดหมายเหตุ แปลตามตัวหนังสือได้ว่า การเขียน (จด) เรื่องราวเหตุการณ์ (เหตุ) เพื่อจำ (หมาย) หรือเป็นการเขียนที่ว่าด้วยข่าวคราวที่เป็นไป เรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ ด้วยเหตุนี้ลักษณะของจดหมายเหตุจึงมีวันเดือนปีและบางทีก็มีเวลากำกับไว้ ทำให้ผู้ที่ได้อ่านในภายหลังรู้ว่า เหตุการณ์เรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยต่อมา จดหมายเหตุมีความหมายรวมถึงบันทึกทางราชการต่าง ๆ ด้วย.

นฤมล บุญแต่ง