วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566
คณะอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ศึกษาดูงาน ณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖​ เวลา​ ๙.๐๐-๑๑.๓๐ น.​

คณะอาจารย์​ นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย นำโดย ดร.ถนอมวงศ์  ล้ำยอดมรรคผล ได้เข้าศึกษาดูงานและฟังการบรรยายที่กองศิลปกรรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ในโอกาสนี้ นายศานติ  ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา รักษาราชการแทนเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ได้กล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษในประเด็นการใช้ภาษาไทยในงานแปล และนางสาวกุลศิรินทร์  นาคไพจิตร นักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ บรรยายเรื่อง "การแปลกับหลักภาษาไทยน่ารู้ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา"  



วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ การจัดทำแผนปฏิบัติราชการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗-๒๕๖๘ และการจัดการความรู้ภายในองค์กร

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ และวันอังคารที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัด “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ การจัดทำแผนปฏิบัติราชการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗-๒๕๖๘ และการจัดการความรู้ภายในองค์กร” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในองค์กรได้รับรู้ร่วมกันในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ และเพื่อร่วมกันระดมความคิดเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติราชการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗-๒๕๖๘ รวมถึงเพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน อันจะทำให้มีความรู้และเกิดความเข้าใจในงานต่าง ๆ ในองค์กรที่นอกเหนือจากงานในความรับผิดชอบหลักของตน ในการนี้ นายศานติ ภักดีคำ  รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และร่วมเป็นวิทยากรการบรรยาย เรื่อง ประวัติและที่มาของอักษรและตัวเลขไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อการจัดการความรู้ภายในองค์กรที่จัดขึ้นในวันที่ ๒ ของโครงการ นอกจากนี้ยังมีการบรรยาย เรื่อง หลักเกณฑ์ทางภาษาของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยมีนางสาวสุปัญญา  ชมจินดา อดีตนักอักษรศาสตร์เชี่ยวชาญ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นวิทยากร และฝึกปฏิบัติเขียนอักษรและตัวเลขไทยตามมาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย โดยนายปิยะพงษ์  โพธิ์เย็น  นักวรรณศิลป์ชำนาญการ เป็นวิทยากร



วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญสมทบพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๖๖ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์

ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญสมทบพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๖๖ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา วันศุกร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ผ่านบัญชี "สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (กฐินพระราชทาน)" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสำนักพระราชวัง (สนามเสือป่า) ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขบัญชี ๔๐๖-๓๔๑๗๖๔-๘ ตามรายละเอียดในใบบริจาคจตุปัจจัยที่แนบมาพร้อมนี้


เอกสารที่เกี่ยวข้อง :
  • ใบบริจาคจตุปัจจัย.DOC
  • ใบบริจาคจตุปัจจัย.PDF

  • วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566
    การเสวนาวิชาการเรื่อง “ราชบัณฑิตปูชนียบุคคล ปราชญ์ของแผ่นดิน ครั้งที่ ๑๒”

    วันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕  เวลา ๘.๐๐–๑๒.๐๐ น ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ นพ.สุรพล  อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการเรื่อง “ราชบัณฑิตปูชนียบุคคล ปราชญ์ของแผ่นดิน ครั้งที่ ๑๒” และได้ให้เกียรติมอบเข็มเครื่องหมายราชบัณฑิตและเข็มเครื่องหมายภาคีสมาชิกให้ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ การเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลของราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่เกียรติคุณและผลงานและเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อราชบัณฑิตผู้เป็นปูชนียบุคคล ๓ คน ได้แก่ ๑. ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช  ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ๒. ศาสตราจารย์ ดร.ระวี  ภาวิไล  ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และ ๓. ศาสตราจารย์วิสุทธ์  บุษยกุล  ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม โดยจัดการประชุมแบบผสมผสาน ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings พร้อมถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา



    วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566
    การอบรมหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเพื่อนบ้าน (ภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย)

    เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดการอบรมหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเพื่อนบ้าน (กาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย) ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการทับศัพท์ภาษาเศรษฐกิจและภาษาเพื่อนบ้านได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเศรษฐกิจและภาษาเพื่อนบ้านได้อย่างถูกต้องและเป็นแนวทางเดียวกัน โดยนายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา รักษาราชการแทนเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ในงานช่วงเช้ามีการอภิปรายเรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการทับศัพท์ ทับศัพท์คืออะไร ประกอบด้วย หลักเกณฑ์ทางด้านภาษาศาสตร์ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย และช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง ตัวอย่างการใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย และคำถามที่พบบ่อย โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม และประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ  นางเพ็ญแข คุณาเจริญ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ  รองศาสตราจารย์ ตร.นันทนา รณเกียรติ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ  นางแสงจันทร์ แสนสุภา กรรมการในคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี  นิมมานุภาพ ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู  และนางสาวส่าหรี  สุฮาร์โย ผู้เชี่ยวชาญภาษาอินโดนีเซีย