วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ราชบัณฑิตยสภาจัดปาฐกถารำลึกศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวข้อ “กัลยาณมิตรในความทรงจำของข้าพเจ้า”

        วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๙.๓๐-๑๑.๐๐ น. ณ โถงชั้น ๑ อาคารสำนักงานราชบัณฑิตยสภา สนามเสือป่า ราชบัณฑิตยสภาได้จัดการปาฐกถารำลึกศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไซต์และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๗ นางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ ทายาท นายชวน หลีกภัย พร้อมด้วยราชบัณฑิตและแขกผู้เกียรติเข้าร่วมงาน ในโอกาสนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เชิญศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคย ใกล้ชิด และเคยทำงานร่วมกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔) และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๘) ให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “กัลยาณมิตรในความทรงจำของข้าพเจ้า”


        ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือ นายกราชบัณฑิตยสภา) ๒ วาระ ระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ท่านมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา)ให้เจริญก้าวหน้าต่อมาจนถึงปัจจุบันขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานวาระแรก มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งมีการเพิ่มอำนาจและหน้าที่ขอ'ราชบัณฑิตยสถานให้กว้างขวางและมีการกำหนดให้มี “สภาราชบัณฑิต” (ปัจจุบันคือราชบัณฑิตยสภา) ขึ้น โดยมีหน้าที่สำคัญในการวางนโยบายสำหรับการดำเนินงานทางวิชาการ สภาราชบัณฑิตมีนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นนายกสภา มีอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ๒ คน เป็นอุปนายกสภา และมีราชบัณฑิตทุกคนเป็นกรรมการสภา มีการประชุมสภาราชบัณฑิตเป็นประจำทุก ๓ เดือน นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว ยังกำหนดให้นายกราชบัณฑิตยสถานมีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งกรรมการวิชาการประจำสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น ๆ เพื่อทำการใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาราชบัณฑิตอีกด้วย มีผลทำให้การทำงานวิชาการของราชบัณฑิตยสถานมีความคล่องตัวขึ้นเป็นอันมาก ท่านได้พัฒนาบทบาทของราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และสำนักงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยเน้นภารกิจหลักในการสร้างองค์ความรู้ การให้บริการวิชาการแก่สาธารณชนทั้งภาครัฐและเอกชน


        ในช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสัมมนา การประชุมสภา การแถลงข่าวในเรื่องสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ รวมทั้งผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ และทันต่อความต้องการของสังคม ภารกิจที่สำคัญของราชบัณฑิตยสถานประการหนึ่ง คือ การอนุรักษ์ภาษาไทยและส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ท่านได้ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานด้านภาษาไทยและด้านอื่น ๆ รวมทั้งมีกิจกรรมเผยแพร่การใช้ภาษาไทยให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยไม่ให้มีการสูญเสียเอกลักษณ์ที่สำคัญ

        ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นปีที่ราชบัณฑิตสถาน มีอายุครบ ๗๐ ปี ท่านได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าว โดยจัดให้มีกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ ทั้งการสัมมนา ปาฐกถา อภิปราย และประชุมเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือและเผยแพร่งานวิชาการทางเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อให้ความรู้แก่สังคมและประชาชน สำหรับวิชาการในทุกสาขาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้ผลงานของราชบัณฑิตยสถานเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

        ภายหลังท่านหมดวาระการดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน ท่านยังคงทำงานและเข้าประชุมสำนักวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ ในการประชุมสำนักท่านจะมีแนวคิด ให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ ผลงานทางวิชาการของท่านมีมากและมีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ จนถึงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวัย ๘๗ ปี ได้ถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งถึงแม้ร่างของท่านจะดับสิ้นไป แต่เจตนารมณ์หนึ่งที่ท่านตั้งใจและได้แจ้งแก่ทายาทไว้ให้สานต่อคือการมอบเงินสนับสนุนกิจการราชบัณฑิตยสภาและในวันนี้นอกจากจะจัดการปาฐกถารำลึกถึงท่านแล้ว วันที่ ๓ พฤศจิกายนนี้ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนั้นเพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ ทายาท ได้เป็นผู้แทนศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะมอบเงินสนับสนุนกิจการราชบัณฑิตยสภา จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ให้กับราชบัณฑิตยสภาในโอกาสนี้ด้วย




ดูข่าวทั้งหมด