สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
100 อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ข้าไท “ข้าไท” ปรากฏในวลี “ไพร่ฝ้าข้าไท” ในจารึกสมัยสุโขทัย เช่น จารึกหลักที่ ๑ พ.ศ. ๑๘๓๕ หลักที่ ๓ พ.ศ. ๑๙๐๐ และหลักที่ ๕ พ.ศ. ๑๙๐๔ ไพร่ฝ้าข้าไท หมายถึง ประชาราษฎร เช่น จารึก หลักที่ ๕ ว่า “พระยาลือไทย...รู้ปรานีแก่ไพร่ฝ้าข้าไททังหลาย” ต่อมาในสมัยอยุธยา ใช้ค� ำว่า “ฟ้า” แทนค� ำว่า “ฝ้า” ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวงใช้ไพร่ฟ้าข้าไทหลายแห่ง เช่น “เจ้าเมืองเอาพล ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายออกเลี้ยงนอกเมือง” และใช้ “อณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมา” ไพร่ คู่กับ ฟ้า แต่เดิมคงมีความหมายเท่ากับข้าคู่กับไท เพราะจารึกสุโขทัยชอบใช้วลีที่มีความหมาย อย่างเดียวกัน ซ้อนกัน เช่น ข้าเสิกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบ กฎหมายตราสามดวงกล่าวถึง “ข้าหนีเจ้า ไพร่หนี นาย” ข้า คงไม่เท่ากับ ทาส เพราะจารึกหลักที่ ๓ มีข้อความว่า “ไพร่ฝ้าข้าไทขี่เรือไปค้า ขี่ม้าไปขาย” ถ้า ปล่อยให้ทาสไปค้าขาย ก็คงจะหลบหนีกันไปหมด ต่อมาถึงสมัยอยุธยา ไพร่ของฟ้า คงจะหมายถึงคนของหลวง และ ข้าของไท หมายถึงบริวารของ นาย และท้ายที่สุดในกฎหมายตราสามดวง ได้ลดฐานะของข้าลง โดยใช้ “ถ้าไพร่ฟ้าทาษไทใคร ๆ หนีนาย หนีเจ้า” นอกจากนี้ จารึกสุโขทัยยังกล่าวรวมไพร่ฝ้าข้าไทไปกับทรัพย์ศฤงคารของบุคคล เช่น จารึกหลักที่ ๑ “ช้างขอ ลูกเมีย เยียข้าว ไพร่ฝ้าข้าไท ป่าหมาก ป่าพลู (ของ) พ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น” และจารึกหลัก ที่ ๑๐๒ พ.ศ. ๑๙๒๒ กล่าวถึง “ช้างม้าข้าไททังหลาย” ไตรภูมิกถากล่าวถึง “มีช้าง มีม้า มีข้า มีไท แกล้ว หาญ มีรี้พลเพียงดังพระอินทร์” ไท หมายถึง ผู้มีอิสระแก่ตน ดังจะเห็นได้จากจารึกหลักที่ ๑๐๖ พ.ศ. ๑๙๒๗ ว่า “ข้าและเมียมัก (รัก) กัน ให้ขา (เขาทั้งสอง) แก่กันไปเป็นไทให้เลี้ยงแม่ผู้ชาย” จากข้อมูลข้างบนนี้ อาจสรุปได้ว่า สมัยสุโขทัย ข้าไท ใช้คู่กับ ไพร่ฟ้า แปลว่า ประชาราษฎร แต่มี อีกความหมายหนึ่งว่า บริวาร ต่อมาในสมัยอยุธยา ข้าของไท หมายถึง บริวารของนาย คู่กับไพร่ฟ้า ซึ่งหมายถึง คนของหลวง ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้ไพร่ฟ้าทาสไทแทนที่ ไพร่ฟ้าข้าไท แสดงว่า ข้ามีความหมายเช่นเดียวกับทาส จึงเป็นอันว่าข้าไทค่อย ๆ ลดฐานะของคนอิสระลงมาจนกลายเป็นทาส ไปในที่สุด. บรรณานุกรม ขจร สุขพานิช. ฐานันดรไพร่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๙. ศิลปากร, กรม. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๖. (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย พุทธศักราช ๒๕๒๖).
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=