Nov2013.indd

4 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง และพสกนิกรอย่างใหญ่หลวง แต่พระราชประเพณีนี้เริ่มมีปัญหาเมื่อขุนนางที่มีอำนาจ มากได้บีบบังคับให้มีการเลือกอุปราชหรือวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๕ จนเป็นสาเหตุทำให้ เกิดความระแวงขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนเกิดเป็นวิกฤติการณ์ที่ต่างชาติ อาจเข้าแทรกแซงได้ ดังนั้น กลุ่มเจ้านายและข้าราชการจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระ- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเปลี่ยนแปลงและมีประเพณีที่แน่นอนชัดเจนในการสืบ ราชสมบัติ จึงทรงยุบตำแหน่งอุปราชหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๒๘ และปีถัดมาทรงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎ- ราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาทที่ชัดเจน คล้ายกับสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น พระราชโอรสองค์ใหญ่ เป็นการย้อนไปหารูปแบบสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) พระราชประเพณีการสืบราชสมบัติมีการทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง “สมมต” เจ้านายพระองค์ใดเป็นรัชทายาทได้ และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการกำหนดว่า ผู้ สืบราชสมบัติเป็นพระราชธิดาก็ได้ โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งยังปรากฏใน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ๏ วันพุธที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง มัชฌิมนิยม ความโดยสรุป ว่า มัชฌิมนิยม เป็นหนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของระบบปรัชญามนุษยนิยม ทั้งแนว ตะวันออกและตะวันตก เป็นวิถีสายกลางที่เชื่อมซีกโลกตะวันตกและตะวันออกทั้งทาง คติธรรมและวัตถุธรรมให้ผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นโลกไร้พรมแดนแห่งเอกภาพ สมภาพ และภราดรภาพ ซึ่งหมายรวมถึง ความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรม ความ ยุติธรรม ความพอดี พอเพียง ดุลยภาพ ความพอประมาณ ลงตัว และความเหมาะสม มัชฌิมนิยมกรีก แบ่งเป็น ๑) ปรัชญา ๒ สายหลัก ได้แก่ ปรัชญาวัตถุนิยม และ ปรัชญาจิตนิยม ๒) สูตรมัชฌิมนิยม และ ๓) มัชฌิมนิยมทางสังคมและการเมือง ดังนี้ ปรัชญาวัตถุนิยม (materialism) มีใจความสรุปว่า ชีวิตมนุษย์ปรุงแต่งขึ้นด้วย ร่างกายและจิตใจก็จริง แต่จิตใจเป็นผลิตผลของร่างกาย สุขารมณ์คือความดีสูงสุดและ ทรงคุณค่าสูงสุดที่มวลมนุษย์พึงต้องแสวงหา ส่วนปรัชญาจิตนิยม (idealism) มี ใจความสรุปว่า เหนือโลกที่ปรากฏต่อประสบการณ์นี้ ยังมีโลกแห่งมโนคติ หรือแม่พิมพ์ หรือแม่แบบ ที่มีความสมบูรณ์และนิรันดร โลกนี้จึงมีอยู่ไม่จริงตามที่มนุษย์เข้าใจกัน มนุษย์รวมถึงคุณค่าแห่งความรู้ความจริงและความถูกต้องดีงามล้วนล้อแบบมาจากโลก แห่งแม่พิมพ์ทั้งสิ้น สูตรมัชฌิมนิยมซึ่งอาริสโตเติลได้วิเคราะห์และประสานระหว่างปรัชญาวัตถุนิยม กับปรัชญาจิตนิยมมาสังเคราะห์เข้ากันให้กลมกลืนกัน ตามทรรศนะนี้ การอยู่เป็นสุขมี ลักษณะเทียบได้กับความอิ่มในอาหาร ความรู้สึก ความพอดีพอประมาณ จึงกำหนดได้ ไม่เท่ากัน ความเป็นกลาง ที่เรียกว่า อารยวิถีแนวมัชฌิมนิยมกรีก หมายถึง ความพอ ประมาณ ความพอดี ความได้ดุลยภาพ ความลงตัว ความสมเหตุสมผล ความพอเหมาะ พอควร ความสมบูรณ์ ความไม่ขาดไม่เกิน และอื่น ๆ วิถีชีวิตที่ดีที่ประเสริฐ คือ วิถี- ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงปัจจุบันที่เราต้องเกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม และ สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณและอยู่เพียงลำพัง เข้าใจ ความต้องการและจุดหมายแท้จริงของตนกับผู้อื่นในมิติแห่งมิตรภาพ และรับผิดชอบใน การปฏิบัติหน้าที่ความเป็นมนุษย์อย่างมีคุณภาพ ส่วนมัชฌิมนิยมทางสังคมและการเมืองถือว่า การมีชีวิตเป็นปัจเจกบุคคลอยู่ร่วม กับเพื่อนมนุษย์อื่นในสังคมแต่เกิดจนตาย มีมิตรภาพที่ดีที่เหมาะสมระหว่างกัน แลก เปลี่ยนเรียนรู้และคุณประโยชน์ร่วมกัน มีสำนึกที่ดีต่อกัน มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม เข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่ดีงามสำหรับตนเองและเพื่อนมนุษย์ มัชฌิมนิยมจีน ปรัชญาจีนเป็นมรดกทางปัญญาล้ำค่าของจีนที่ได้ปลูกฝัง หล่อ หลอม กำหนด และหลอมรวมเข้าเป็นวิถีชีวิตแบบจีน ปรัชญาจีน หมายความถึง วิชา วิถีชีวิตมนุษย์อันเป็นองค์รวมแห่งความรู้สึกนึกคิด จิตใจ สติปัญญา ความฉลาด ความ เชื่อ และแนวทางประพฤติปฏิบัติ ผ่านกระบวนการสะสม รวบรวมประสบการณ์ นำมา ครุ่นคิด ไตร่ตรอง กลั่นกรองเป็นองค์ความรู้กับคุณธรรม ดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขตาม วิถีสายกลาง มีความพอดี พึ่งพาตนเอง และยืนหยัดในเหตุผล มัชฌิมนิยมอินเดีย มีปรัชญา ๓ ระบบหลักคือ ๑) จิตนิยม-เทวนิยม ตามสาย คัมภีร์พระเวท ๒) วัตถุนิยม-บริโภคนิยม-สุขารมณ์นิยม หรือกามสุขนิยม ตามสายจารวกะ และ ๓) มนุษยนิยม-มัชฌิมนิยม-เหตุผลนิยม ตามสายพุทธปรัชญา ซึ่งในพุทธ- ปรัชญา คุณลักษณะเด่นที่สุดคู่กันคือ มนุษยนิยมในลักษณะเป็นหลักการ และมัชฌิม- นิยมในลักษณะเป็นแนวทาง วิธีการ อุบายวิธี หรือมรรควิธีสำหรับการพัฒนาชีวิตและ ดำเนินชีวิตในทุกด้าน เพื่อให้มนุษย์บรรลุสิ่งมุ่งหมายคือประโยชน์สุขที่ถูกต้องดีงามและ มีเหตุผล ตามระบอบธรรมาธิปไตยแนวมัชฌิมนิยมพุทธนี้ ผู้นำรับผิดชอบปกครองบริหาร ครั้งแรกในสังคมมนุษย์ได้มาโดยวิธีการพร้อมเงื่อนไขแห่งสัญญาประชาคมที่ปวงชน สมัครใจและยินยอมร่วมกันทำขึ้น ดังนั้น ผู้นำในอุดมคติ คือ ผู้ทำหน้าที่รัฐบาลในการ ปกครองบริหารประเทศ เช่น ราชา กษัตริย์ ประมุข ผู้นำหรือคณะผู้นำ ควรต้องทรง คุณสมบัติพิเศษตามหลักสูตรผู้นำระบอบธรรมาธิปไตย ๑๐ ประการที่เรียกว่า ทศ- พิธราชธรรม อันเป็นแก่นและหัวใจคุณสมบัติของผู้นำปกครองบริหารประเทศ ๏ วันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ.สัญชัย สุวังบุตร ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง อีวา เบราน์ ผู้หญิงของฮิตเลอร์ ความโดยสรุปว่า เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และดำเนินนโยบายสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เขาประกาศต่อสาธารณชนว่า เขาได้ แต่งงานกับเยอรมนีและชีวิตทั้งหมดเป็นของประเทศชาติ คำประกาศดังกล่าวมีส่วน ทำให้ชาวเยอรมันชื่นชอบฮิตเลอร์มากขึ้นและผู้หญิงเยอรมันซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของ เขาก็คลั่งไคล้และบูชาเขาอย่างมาก ฮิตเลอร์ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นภรรยา และมารดาที่ดี ภาพลักษณ์ที่ฮิตเลอร์สร้างขึ้นและข้อเรียกร้องต่อผู้หญิงให้มีบทบาทใน ครัวเรือนดังกล่าวทำให้ฮิตเลอร์ต้องปกปิดความสัมพันธ์ที่มีต่ออีวา เบราน์ เขาพบอีวา ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ขณะที่อีวาอายุ ๑๗ ปี และฮิตเลอร์อายุ ๔๐ ปี อีวามาจากครอบครัว คาทอลิก เธอไม่ใช่คนสวยแต่น่ารักและสดใส ฮิตเลอร์ชอบเธอเมื่อแรกเห็นและ ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่พัฒนาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่เกลี หลานสาวที่ ฮิตเลอร์หลงรักเสียชีวิต อีวาได้เข้ามาแทนที่เกลี เธอทำให้ฮิตเลอร์ผ่อนคลายและมี ความสุข แม้ฮิตเลอร์พยายามปิดบังความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอีวาเป็นความลับ แต่ ในกลุ่มวงในพรรคนาซีก็ยอมรับว่าอีวาคือคนสำคัญของฮิตเลอร์ อีวาเป็นคนฉลาดและ เธอรู้ดีว่าจะรักษาสถานภาพของเธอให้มั่นคงได้อย่างไร เธอกำจัดคู่แข่งด้วยวิธีการอัน แยบยลและวางตัวในการติดต่อกับกลุ่มคนวงในของฮิตเลอร์จนทำให้เธอเป็นที่เกรงใจ และเป็นที่ยอมรับในที่สุด ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๔ ซึ่งเยอรมนีก่อสงคราม ฮิตเลอร์กับอีวาผูกพันกัน มากขึ้น เมื่อเยอรมนีเริ่มปราชัยในสงคราม อีวาปฏิเสธที่จะแยกตัวจากฮิตเลอร์และ ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเขาในบังเกอร์ใต้ดินโดยขอตายเคียงคู่กับเขา ทั้งคู่แต่งงาน กันในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ อีวา เบราน์ ซึ่งมีสถานะ “ภรรยาลับ” นานกว่า ๑๖ ปี ได้มีสถานภาพที่แน่นอนในฐานะ “นางฮิตเลอร์” อีวาได้พิสูจน์ให้ฮิตเลอร์เห็นว่า ในขณะที่คนใกล้ชิดเขาหนีหายไป มีเธอเพียงคนเดียวที่จงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อเขา เมื่อชีวิตใกล้จะถึงจุดจบฮิตเลอร์จึงแต่งงานกับอีวาด้วยเหตุผลว่าเธอได้มอบน้ำใจและ มิตรภาพอันแท้จริงให้เขาตลอดหลายปี ทั้งเต็มใจที่จะตายพร้อมกับเขาในฐานะภรรยา คนทั้งสองได้ก่ออัตวินิบาตกรรมในเวลาต่อมา อีวาได้พิสูจน์ตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เธอคือผู้หญิงคนเดียวของฮิตเลอร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ๏ วันพุธที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง วิธีการแบ่งกลุ่ม ข้อมูลในกรณีที่จำนวนข้อมูลในแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ความโดยสรุปว่า ปัญหาหนึ่งที่ มักพบในการสอนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้รู้จำจากข้อมูลที่สอนก็คือ จำนวนข้อมูลในแต่ละ กลุ่มมักมีจำนวนไม่เท่ากัน ขณะที่คอมพิวเตอร์กำลังเรียนรู้ คอมพิวเตอร์จะใช้ตัววัด ความถูกต้องของการเรียนรู้โดยการวัดค่าความแตกต่างของผลที่คอมพิวเตอร์คำนวณ ออกมาในขณะที่สอน กับผลที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์แสดงจริงจากข้อมูลที่สอน โดย ทั่วไปแล้ว กลุ่มข้อมูลที่มีจำนวนมากจะมีค่าผิดพลาดจากการวัดมากกว่ากลุ่มข้อมูลที่มี จำนวนน้อยกว่า ในกรณีนี้คอมพิวเตอร์จะพยายามปรับลดความผิดพลาดในกลุ่มข้อมูลที่ จำนวนข้อมูลมากก่อน ดังนั้น คอมพิวเตอร์จึงมักให้คำตอบที่ถูกต้องในกลุ่มข้อมูลที่มี จำนวนมากเสมอ ปัญหาจำนวนข้อมูลไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มข้อมูลนี้ปรากฏอยู่จริงใน หลาย ๆ สาขา เช่น ในทางการแพทย์ จำนวนข้อมูลของผู้ป่วยจะมีมากกว่าจำนวน ข้อมูลของผู้ไม่ป่วย การแก้ปัญหานี้ทำโดยวิธีการลดจำนวนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการ แบ่งกลุ่มข้อมูลลง โดยเก็บเฉพาะข้อมูลที่อยู่ที่ขอบของกลุ่มข้อมูลด้วยตัววัดระยะทาง แบบ Hausdroff’s และใช้วิธีการประมาณขนาดของกลุ่มข้อมูลล่วงหน้าเพื่อครอบคลุม ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยวิธี Boostrapping ผลการทดลองด้วยตัวอย่างต่าง ๆ

RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=