2724_6125

5 ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๒๖๘ เดือนกันยายน ๒๕๕๖ ๓. การเปลี่ยนแปลงทางเคมี มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ก) atmospheric oxidation เกิดโดยการเติมออกซิเจนจากอากาศและจากน้ำลงในน้ำมัน ข) การย่อย สลายโดยแบคทีเรีย มีแบคทีเรียหลายชนิดที่ย่อยน้ำมันได้ อัตราการย่อยขึ้นอยู่กับส่วนประกอบสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง เช่น ออกซิเจน อาหาร อุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๐o ํ ซ. การย่อยสลายโดยแบคทีเรียจะช้าลง ๔. การกระจายที่ชายฝั่ง น้ำมันที่รั่วไหลจะถูกพัดพาเข้าหาฝั่ง ส่วนที่เบาก็จะมีการระเหยได้อีก ส่วนที่หนักก็จะอยู่ที่พื้นผสมกับสารอื่น ๆ บางส่วนก็จะซึมลงไป ในดินและทรายตามแนวเขตหาดทราย นอกจากการเปลี่ยนแปลงของคราบน้ำมันตาม ๔ หัวข้อดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีน้ำมันอีกส่วนหนึ่งที่อาจลอยตัวอยู่ในน้ำ ในรูปของคอลลอยด์ บางส่วนละลาย อยู่ในน้ำ บางส่วนก็จะซึมลงสู่ก้นพื้นของแหล่งน้ำ และบางส่วนก็จะถูกดูดซับเข้าไปในสิ่งมีชีวิต พิษของน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิต น้ำมันดิบมีส่วนประกอบของไฮโดรคาร์บอนมากกว่าร้อยละ ๙๘ รวมทั้งยังมีธาตุอื่น เช่น ออกซิเจน กำมะถัน น้ำมันที่กลั่นแล้วจะมีไฮโดรคาร์บอนเกือบ ร้อยละ ๑๐๐ แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในน้ำมันดิบ และเป็นสารที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิต สารแอโรแมติกที่มีจุดเดือดสูง จะทำให้เกิดพิษแบบเรื้อรัง เช่น 3, 4 benzo-pyrene สารพวกที่มี ๔-๕ วงแหวนของแอโรแมติก ถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) นอกจากนี้ ไฮโดรคาร์บอน อิ่มตัว (saturated hydrocarbon) ที่มีจุดเดือดต่ำ ก็ยังมีสมบัติเป็นยาสลบ เมื่อสิ่งมีชีวิตได้รับสารจำพวกนี้เข้าไปมาก ๆ จะทำให้สลบไปได้นาน และถ้ามากเข้าก็อาจทำลาย เซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ ผลการวิจัยในอดีตอาจสรุปได้ว่า ความเข้มข้นของน้ำมันดิบ ๑๐ -๔ – ๑๐ -๕ มิลลิลิตร/ลิตร มีผลต่ออัตราการฟักไข่ของปลาทะเลบางชนิด กล่าวคือ อัตราการฟักไข่จะน้อยกว่าในน้ำที่ไม่มีน้ำมันปนเปื้อน วิธีกำจัดคราบน้ำมัน คราบน้ำมันที่เกิดจากการรั่วไหลลงสู่ทะเลอาจกำจัดได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้ ๑. การเผา วิธีการนี้ต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะกลายเป็นอัคคีภัยขึ้นได้ วิธีการกำจัดควรนำฟางซับน้ำมันแล้วนำขึ้นมาเผาในที่ที่ควบคุม การลุกลามได้ ๒. การทำให้จม เป็นวิธีการที่เคยทำกันมาแล้วในอดีต วิธีนี้จะใช้สารเคมีที่เมื่อพ่นลงไปในบริเวณคราบน้ำมันจะทำให้คราบน้ำมันจับตัวกัน เมื่อความถ่วง จำเพาะสูงกว่านี้ก็จะจมลงสู่ก้นพื้น ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพวกเบนทอส ๓. การกักบริเวณ เป็นวิธีการที่ใช้ได้ในบริเวณที่มีคลื่นลมไม่แรงจัด แต่ถ้าเป็นบริเวณทะเลเปิด มีคลื่นลมแรง การกักบริเวณคราบน้ำมันจะทำได้ยาก เมื่อกัก บริเวณได้แล้วจะต้องกำจัดโดยใช้เครื่องมือตักคราบน้ำมันไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม ๔. การใช้วัสดุดูดซับ ในอดีตนั้นมักใช้ขี้เลื่อยหรือฟางข้าวดูดซับคราบน้ำมันแล้วนำไปทิ้ง ในบางครั้งก็เกิดปัญหา เพราะแทนที่ดูดซับน้ำมันแต่กลับไปดูดซับน้ำ ขึ้นมามาก ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัสดุชนิดพิเศษขึ้นมาใช้ เป็นวัสดุที่ทำจากใยสังเคราะห์มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับน้ำมัน และเป็นวัสดุที่ทนทานสามารถนำไป ใช้ได้หลายหน ๕. การตักและการช้อน เป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาดี แต่ต้องใช้แรงงานมากและกินเวลา อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการค้นคิดเครื่องมือที่ใช้ในการช้อนคราบ น้ำมัน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงพอสมควร และใช้ได้ดีในบริเวณที่มีการรั่วไหลของน้ำมันไม่มากเกินไป ๖. การทำลายคราบน้ำมันโดยสารเคมี เป็นวิธีที่บริษัทกลั่นน้ำมันบางบริษัทได้คิดค้นขึ้นมาใช้ สารเคมีที่ว่านี้มีชื่อทางการค้าว่า Corexit R เมื่อพ่นลงไป ถูกคราบน้ำมันจะทำให้คราบแตกออกเป็นละอองเล็ก ๆ เป็นการเพิ่มเนื้อที่ผิวของคราบน้ำมัน ในเวลาต่อมาแบคทีเรียที่เป็นชนิด “oil oxidizing bacteria” จะย่อยสลายละอองน้ำมันเหล่านี้ให้หมดไปได้ในเวลาอันสั้น ผู้ผลิตสารเคมีชนิดนี้ได้อ้างว่า สารเคมีดังกล่าวจะช่วยเร่งให้เกิด “oil oxidizing bacteria” ได้อย่าง รวดเร็ว ปัญหาที่ว่าสารเคมีชนิดนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ดี หลายประเทศก็ได้อนุญาตให้ใช้แล้ว รวมทั้งประเทศไทย กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเล บริเวณชายฝั่งทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะกำลังถ่ายน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน Madam Plato สัญชาติอิตาลี ผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบที่อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดออกไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เพื่อส่งต่อมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) การรั่วไหลเกิดตรงบริเวณท่ออ่อนรับน้ำมันดิบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๖ นิ้ว ทำให้ น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลประมาณ ๕๐,๐๐๐ ลิตร หรือ ๕๐ ตัน บริษัทได้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ทันที โดยปล่อยทุ่นเพื่อล้อมคราบน้ำมันซึ่งมีความหนาประมาณ ๑๐-๒๐ ซม.ไว้ และมีการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบางส่วน การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนวิธีการตามมาตรฐาน อย่างไรก็ดี ภาวะคลื่นลม ในทะเลในช่วงต่อมามีความรุนแรง จึงทำให้กักคราบน้ำมันส่วนหนึ่งไว้ไม่อยู่ และได้ลอยมาติดฝั่งที่อ่าวพร้าวและอ่าวขามบนเกาะเสม็ดในอีก ๒ วันต่อมา การแก้ไขสถานการณ์ในอ่าวพร้าวได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครจากภาครัฐและเอกชนร่วมกันเก็บคราบน้ำมัน ซึ่งสถานการณ์ได้คลี่คลายและดีขึ้นเป็นลำดับ รูปที่ ๑ การปนเปื้อนของคราบน้ำมันในบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด (ภาพโดย น.ส.น้ำทิพย์ บุญขวาง)

RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=