2723_3912

6 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ๖. ส่งเสริมการเข้าใจตนเอง รู้จักส่วนดี ส่วนบกพร่องของตนเอง และความเข้าใจผู้อื่น สามารถชื่นชมกับความสำเร็จของผู้อื่น (self-understanding approach) ๗. เน้นการประเมินตามสภาพจริง (authentic evaluation) โดยอาศัย การสังเกต การสัมภาษณ์ การเก็บสะสมแฟ้มผลงานของเด็ก บรุคเนอร์ (Brueckner) และกรอสสนิกเกิล (Grossnickle) นักวิชาการชาวอังกฤษ ได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบสมองที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ให้มีความสุขไว้ว่า การที่ สมองจะเลือกเก็บข้อมูลไว้เป็นความจำก็ขึ้นอยู่กับ “อารมณ์” อารมณ์เป็นตัวทำให้สมองหลั่งสารเคมี ฉะนั้น เรื่องราวที่กระทบความรู้สึกมากโดยเฉพาะถ้ามีความสุข จะยิ่งจดจำได้นาน หรือเรื่องราวที่เราสนใจเราจะจำได้ดีกว่าเรื่องที่ทำให้เราเบื่อหน่าย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการนำไปใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ นอกจากนี้ การสอนแบบแบบบูรณาการหรือการทำแผนที่ความคิด โดยการเชื่อมโยงเรื่องราวหรือแนวคิดโดยการใช้แผนภูมิ ใช้สี ใช้ภาพ ใช้คำหลักหรือใช้การบันทึกย่อ ให้สมองได้เห็นภาพความเชื่อมโยงของสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนกับความเป็นจริง การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถของผู้เรียน กระตุ้นให้จะทำให้ ผู้เรียนมีการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เด็กคิดเป็น เกิดความพึงพอใจในการเรียนรู้ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ครูเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่จะสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข คือ การจัดสภาพการเรียนการสอน ให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย นักเรียนรู้สึกเป็นอิสระ ได้เรียนรู้โดยวิธีการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย การสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขทำให้ ผู้เรียนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข สดชื่น เบิกบาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่ดีในอนาคต ทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจ ใฝ่เรียนรู้ ไม่ท้อแท้ ทำให้ผู้เรียน มีจิตใจที่ดีงาม เพราะเด็กที่เจริญเติบโตขึ้นในบรรยากาศแห่งความรักก็จะรู้จักรักผู้อื่น ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง มีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่ดีงามตลอดไป และทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะการเรียนรู้ที่มีความสุขเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เป็นการฝึกการยอมรับ การรู้จักเข้าใจ  และเห็นใจผู้อื่น  แนวคิดของการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุข การสร้างความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดโทษได้ เช่น ทำให้นักเรียนเรียกร้องเอาแต่ใจตัวเอง ครูผู้นำทางแห่งการเรียนรู้ จึงต้องเข้าใจหลักการและมีแนวปฏิบัติได้ถูกต้อง คือ ๑. การสร้างบรรยากาศแห่งความรักให้เด็กมีความสุขนั้นไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการก้าวสู่เป้าหมาย  ๒. จัดให้เด็กอยู่ในบรรยากาศแห่งความรัก หรือได้รับความรักในลักษณะที่ไม่รวมศูนย์เข้าหาตัว แต่ให้ขยายความรักออกไป เช่น รักครู รักเพื่อน และอยาก ช่วยเหลือผู้อื่น ๓. ครูควรสร้างนิสัยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และการร่วมกันคิดร่วมกันทำ ให้มากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น  ๔. ครูควรใช้ปัจจัยภายนอกช่วยทำให้สถานการณ์นั้นเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาปัจจัยภายใน คือ ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ในตัวเด็ก ๕. สถานการณ์การเรียนที่สนุก ต้องไม่ทำให้เด็กติดในความสนุก หรือเห็นแก่ความสนุก ต้องดำเนินไปในลักษณะที่ความสนุกนั้นเป็นปัจจัยนำไปสู่การใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ในเชิงสร้างสรรค์ตลอดชีวิต สรุปได้ว่าการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น ครูผู้นำทางการเรียนรู้จำเป็นต้องมีเป้าหมายของการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ  เพื่อมุ่งสร้างนิสัยของการใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต  มิใช่เพื่อมุ่งให้นักเรียนเกิดความสุข สนุกในการเรียนเพียงอย่างเดียว ควรมุ่งสร้างคุณลักษณะของการเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การพึ่งตนเองให้มากกว่าพึ่งผู้อื่น และการเป็นคนมีความคิดใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ต่อไปในอนาคต การเรียนให้มีความสุข ควรมุ่งให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยต้องเริ่มที่ครอบครัว โรงเรียน และนักเรียน ต้องสอนและหัดให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ โดยส่งเสริมและหาข้อสรุปให้ชัดเจนว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างการเรียนอย่างมีความสุขให้กับเด็ก เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน และเติบโต ไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่มีความสุขเป็นสิ่งจำเป็น ครูควรทราบถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้การเรียนดำเนินไปอย่างมีความสุข ซึ่งมี ๖ ประการ คือ ๑. เด็กทุกคนได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและสมอง เด็กควรได้มีโอกาสเลือกเรียนตามถนัดและความสนใจ  ๒. ครูมีความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง  ๓. เด็กเกิดความรักและภูมิใจในตนเอง รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลา รู้จักตนเอง เห็นคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ของตน  ๔. เด็กทุกคนได้มีโอกาสเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ เพื่อค้นพบความสามารถของตนได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งและกว้างไกล  ๕. เด็กได้รู้จักคิดและพัฒนาความคิดจากความรู้ที่ได้รับและขยายวงไปสู่ความรู้ใหม่ เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากศึกษาให้ลึกซึ้งเพิ่มเติม  ๖. การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในบทเรียน แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในสภาพความเป็นจริง เกิดประโยชน์และมีความหมายต่อตัวเขา รู้จักสืบเสาะหา คำตอบ ข้อสงสัยต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล  นางขวัญเนตร คาวีวงศ์ กรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางจิตวิทยาและสังคม บรรยายทางวิชาการในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=