2723_3912
4 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปัจจุบันมนุษย์มีความเชื่อเกี่ยวกับดวงดาวแตกต่างจากอดีตเมื่อหลาย ร้อยปีมาแล้ว มนุษย์อธิบายได้ว่าดาวฤกษ์ส่องแสงได้อย่างไร ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ที่มีบริวารเป็นดาวเคราะห์ และเป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกาแล็กซี ทางช้างเผือก ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนแสนล้านดวงที่อยู่เป็นระบบ ได้ด้วยแรงโน้มถ่วง ซึ่งนิวตันเป็นผู้ค้นพบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง กาแล็กซีขนาดใหญ่เพื่อนบ้านของเราคือ กาแล็กซีแอนโดรเมดา กาแล็กซี อยู่เป็นกระจุก หลาย ๆ กระจุกกลายเป็นกระจุกขนาดใหญ่ ทุกกระจุก ขนาดใหญ่รวมกันเป็นเอกภพ กาแล็กซีที่อยู่ไกลเคลื่อนที่ห่างออกไปด้วย ความเร็วสูง บอกให้ทราบว่าเอกภพกำลังขยายตัว เทคโนโลยีอวกาศช่วยให้มนุษย์ในปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับดวงดาวมากขึ้น มีการค้นพบดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ในระบบอื่นเป็นจำนวนมาก มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์และเอกภพมากขึ้น พร้อมกับ มีปัญหาใหม่ที่จะต้องศึกษา คิดค้นหาคำตอบกันต่อไปบนพื้นฐานของความเชื่อ แบบวิทยาศาสตร์ • วันพุธที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง น้ำมันและ ไขมันในน้ำเสียชุมชน ความโดยสรุปว่า น้ำมันและไขมันเป็นมลพิษที่พบมาก ในน้ำเสียชุมชน เนื่องจากเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันและไขมันก่อให้เกิด ปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากทำให้อัตรา การละลายของออกซิเจนลงในแหล่งน้ำลดลง รวมถึงปริมาณออกซิเจน ละลายน้ำที่มีอยู่ลดลง จากการย่อยสลายน้ำมันและไขมันด้วยกระบวนการ ทางชีวภาพแบบใช้อากาศ ส่งผลให้แหล่งน้ำเกิดการความสกปรก เน่าเสีย พืชน้ำและสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำลายทัศนียภาพ ที่สวยงามเนื่องจากไขมันและน้ำมันมักลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ฉะนั้น จึงควรแยก น้ำมันและไขมันออกจากน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดปัญหา ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ รวมทั้งควรสนับสนุนให้ใช้ ประโยชน์จากน้ำมันและไขมันที่แยกออกจากน้ำเสีย เช่น ผลิตไบโอดีเซล ทำสบู่ ทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเป็นการประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย ศ. ดร.มนุวดี หังสพฤกษ์ ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง การเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศโลก และ ๕๐ ปีของ Keeling Curve ความโดยสรุปว่า เมื่อ Thomas Newcomen ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำใน ค.ศ. ๑๗๑๒ นับเป็นการ เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ประชากรโลกมีจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านคน เพิ่มเป็น ๓,๐๐๐ ล้านคน ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ และ ๖,๐๐๐ ล้านคน ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ Guy Callendar พบว่า จากบันทึกสถานีตรวจอากาศ ๑๔๗ แห่งทั่วโลก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับศตวรรษก่อนหน้านั้น และชี้ให้เห็นด้วยว่า ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศก็เพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน อันน่าจะเป็นสาเหตุของการเพิ่มอุณหภูมิอากาศ ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ นักสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อ Roger Revelle และนักเคมี Hans Suess แสดงให้เห็นว่า น้ำทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือยังตกค้างอยู่ในบรรยากาศ ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ นักสมุทรศาสตร์เคมี Charles D. Keeling จากสถาบัน สมุทรศาสตร์ Scripps มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานดิเอโกสร้างเครื่อง ตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และวัดแก๊สนี้อย่างต่อเนื่อง ที่สถานี Mauna Loa บนยอดภูเขาไฟ (ที่ดับแล้วบนเกาะฮาวาย) และที่ สถานีวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติก เพียงเวลา ๔ ปี ก็ได้ข้อมูลมากพอที่จะพิสูจน์ อย่างชัดเจนว่าแก๊สนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจริง ๆ นี่เป็นกำเนิดของ The Keeling Curve ที่มีมาจนปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ค่าเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศสูงถึงระดับ ๔๐๐ ส่วนในล้านส่วน (ppm.) เมื่อ Keeling เริ่มวัดมีค่าเพียง ๓๑๖ ppm. ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดมากกว่า ๑๐๐ แห่ง (ดูกราฟ) สำนักศิลปกรรม • วันอังคารที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง คำนำหน้าชื่อ นำหน้านาม ความโดยสรุปว่า การศึกษาเรื่อง คำนำหน้าชื่อ-คำนามนำหน้า คำย่อย มาจากการที่ได้พบชื่อราชบัณฑิต ๒ คนใน ๒ สำนัก เขียนคำนำหน้าชื่อ ที่เป็นยศทหาร กับคำแสดงวุฒิปริญญาเอกสลับที่กัน ทำให้เกิดความสงสัยว่า คำนำหน้าชื่อที่แสดงคุณสมบัติต่าง ๆ ของบุคคลนั้นควรเรียงลำดับอย่างไร เมื่อศึกษาตัวอย่างการใช้คำนำหน้าชื่อของบุคคลในสังคมไทยแล้ว ได้พบว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ใช้คำนำหน้าพระนามบอกฐานันดรศักดิ์ คำแสดงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ต่อด้วยพระอิสริยยศ หรือพระสกุลยศ พระราชวงศ์พระองค์ใดมียศทางทหาร หรือ วุฒิปริญญาเอก ก็จะเติมคำเหล่านั้นเข้าข้างหน้าคำนำหน้าพระนามดังกล่าวข้างต้นอีกทอดหนึ่ง ส่วนสามัญชนมีคำที่ใช้นำหน้าชื่อ ๖ ชนิด ซึ่งเรียงตามลำดับ คือ ๑. คำบอก สภาวะความเป็นพระภิกษุ สามเณร ๒. คำบอกตำแหน่งทางวิชาการ ๓. ยศ ทหาร ตำรวจ ๔. คำบ่งวุฒิปริญญาเอก ๕. คำบอกอาชีพแพทย์หรือเภสัชกร ๖. คำนำหน้าชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าหรือ คำบอกสกุลยศของผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ส่วนคำนามนำหน้าคำย่อย เป็นคำที่ปรากฏหน้าชื่อสัตว์ พืช สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เช่น นกแก้ว นกเงือก นกเขา ปลาทู ปลาเข็ม ปลาใบขนุน ปลาหมึก หอยเสียบ หอยหลอด เต่าหวาย เต่านา หมีควาย หมีขั้วโลก ผักชี ผักหนาม บ้านบาตร บ้านขมิ้น แหลมสิงห์ แหลมงอบ ฯลฯ คำนามที่นำหน้า คำย่อยดังยกตัวอย่างนี้จะตัดออกจากชื่อไม่ได้ ต้องใช้ควบไปกับชื่อนั้น ๆ คำนำหน้าชื่อ และคำนามนำหน้าคำย่อย เป็นคำที่สะท้อนวัฒนธรรมและ มโนทัศน์ในการใช้ภาษาของคนไทย จึงเป็นคำสำคัญที่ควรศึกษาและใช้ ให้ถูกต้อง รศ. ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง คัมภีร์ตรี อักษรา ความโดยสรุปว่า คัมภีร์ตรีอักษรา ภาษาจีนคือ 三 字 经 เป็น หนังสือซึ่งสอนความรู้พื้นฐานให้แก่เด็กในสมัยโบราณของจีน ประกอบด้วย ๔๗๔ วรรค วรรคละ ๓ ตัวอักษร โดยร้อยเรียง ๒ วรรคเป็น ๑ ประโยค มีสัมผัสระหว่างคำ ทำให้อ่านคล่อง จำง่าย และเข้าใจง่าย มีเนื้อหาหลากหลาย รวมความรู้ทุกด้าน เช่น การศึกษา ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศีลธรรม จริยธรรม และนิทานพื้นบ้าน หวาง ยิ่งหลิน ( Wáng Yìnglín , พ.ศ. ๑๗๖๖-๑๘๓๙) ปราชญ์สมัยราชวงศ์ซ่งใต้เป็นผู้เขียน และแก้ไขเพิ่มเติมให้มี เนื้อหาสมบูรณ์มากขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ล่าสุด จาง ปิ่ง หลิน ( Zháng Bínglín , พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๗๙) ได้จัดทำอรรถาธิบาย และเป็น ฉบับที่ใช้กันมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน • วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ รศ.สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง ความสับสนในงาน สถาปัตยกรรมไทย ความโดยสรุปว่า สถาปัตยกรรมไทย ที่เป็นอาคาร
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=