2722_5351
4 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน เอกสาร คือแนวทางหรือกลยุทธ์สำคัญ ๑๐ ประการในการขับเคลื่อน การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ความสำเร็จในการ สร้างคุณภาพและมาตรฐานในการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง บัญญัติ ๑๐ ประการของแนวทางสู่ความสำเร็จในการประกันคุณภาพในสถานศึกษา ได้แก่ (๑) ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (๒) การทำงานเป็นทีมและการเรียนรู้โดยการทำงานเป็นทีม (๓) การกำหนด เจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบ (๔) การมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้อง (๕) การสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน ประกันคุณภาพ (๖) การบูรณาการการประกันคุณภาพกับการบริหารจัดการ ศึกษาและการปฏิบัติงานปรกติ (๗) การวางแผน การกำกับดูแล และนิเทศ ระบบประกันคุณภาพ (๘) การพัฒนาทรัพยากรบุคคลมืออาชีพและการสร้าง ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน (๙) การวิจัย พัฒนา และประเมินเชิงระบบ และ (๑๐) การจัดการเครือข่าย สำนักวิทยาศาสตร์ • วันพุธที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ข้อมูลทาง วิชาการที่สำคัญเรื่องการใช้สารเคมีกับข้าวสำหรับผู้บริโภค ความโดยสรุป ว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและประชากรโลก ประเทศไทยเป็น ประเทศหลักในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคเองและส่งออก ราชบัณฑิตยสถานมี ความห่วงใยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๑. การใช้สารเคมีในการปลูกข้าว มีการใช้สารคาร์โบฟูราน (carbofuran) หรือเมทิลคาร์บาเมต (methyl carbamate) ฆ่าแมลงในกระบวนการปลูกข้าวมากขึ้น เพื่อเร่งการผลิตข้าว จำนวนมาก สารคาร์โบฟูรานทำให้เกิดการระคายเคืองในตา ผิวหนัง และมี ผลร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบประสาท และระบบพันธุกรรมจะถูกทำลาย ไปเมื่อมีการใช้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ๒. การใช้สารเคมีในกระบวนการเก็บรักษาสภาพข้าว การเร่งเก็บข้าว หากคุณภาพความชื้นของข้าวเกินร้อยละ ๑๕ จะทำให้เกิดเชื้อราแอฟลาทอกซิน (aflatoxin) และมีตัวมอดเข้ามาปะปน ในโกดังข้าว จึงต้องมีการรมควัน กระบวนการรมควัน การใช้เมทิลโบรไมด์ (methylbromide) รม สถานที่เก็บข้าว และอาจมีการรมควันในขณะที่ยังมีข้าวเก็บอยู่ในโกดัง ทำให้ สารเมทิลโบรไมด์ซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว จะทำให้ผู้ได้รับสารนี้มีอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง คอแห้ง และในระยะยาวมีการสะสม ในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ฉีดสารเคมีที่ได้รับจากการหายใจ จะมีอาการภายใน ๓-๑๒ ชั่วโมง มีอาการพูดติดขัด สายตาพร่ามัว อาจมองไม่เห็น มีความคิดสับสน เหงื่อออก อาการรุนแรงทำให้ปอดบวม เลือดออกในสมอง เป็นอันตรายต่อไต และตาย ภายใน ๑-๓๐ ชั่วโมงจากการล้มเหลวของระบบการหายใจ ศ.เกียรติคุณ ทพญ.ใจนุช จงรักษ์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง บิสฟอสโฟเนตและการตายของกระดูกขากรรไกรบางส่วน (Bisphospho- nates and osteonecrosis of the jaw) ความโดยสรุปว่า การตายของ กระดูกขากรรไกรบางส่วนจากบิสฟอสโฟเนต เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากความจำเป็นของการใช้บิสฟอสโฟเฟต เพื่อรักษา หรือป้องกันโรคบางชนิด บิสฟอสโฟเฟตที่ได้รับโดยการฉีดทำให้เกิดการตาย ของกระดูกขากรรไกรได้บ่อยกว่าการกิน และส่วนใหญ่จะเกิดตามหลัง การถอนฟัน หรือการทำงานทันตกรรมที่ทำให้เกิดแผล และเมื่อเกิดการตาย ของกระดูกขากรรไกรแล้ว การรักษาทำได้ยาก ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษา ที่แน่นอน ดังนั้น การป้องกันมิให้เกิดหรือการรักษาแต่เนิ่น ๆ เป็นวิธีที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ทันตแพทย์จึงมีบทบาทหลักด้วยการซักประวัติ การศึกษาการ เปลี่ยนแปลงของกระดูกจากภาพรังสี การใช้ความรู้แก่ผู้ป่วยก่อนทำงาน ทันตกรรม ทั้งนี้ โดยความร่วมมือจากแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคของผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเองเป็นกำลังสำคัญ สำนักศิลปกรรม • วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ รศ. ดร.จินตนา ดำรงค์เลิศ ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง นวนิยาย สะท้อนสังคม เรื่อง Germinal อิทธิพลสำคัญต่อการสร้างสรรค์ศิลปะ ความโดยสรุปว่า นวนิยายเรื่อง Germinal เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียน ชาวฝรั่งเศสชื่อ เอมีล ซอลา (É mile Zola : ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๙๐๒) ซึ่งพิมพ์ เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๕ (พ.ศ. ๒๔๒๘) ขณะเขาอายุได้ ๔๕ ปี เป็นเรื่องราว สะท้อนภาพชีวิตอันทุกข์ยากของกรรมกรเหมืองแร่ในประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้น ซอลาเขียนถึงโครงเรื่องของนวนิยายเรื่อง Germinal ว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้ ของลูกจ้างในกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างแรงงาน (travail) กับทุน (capital) และตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดแก่คริสต์ศตวรรษ ที่ ๒๐ ซอลานำเสนอเรื่องราวความทุกข์ยากของกรรมกรเหมืองแร่ถ่านหิน โดยแสดงเหตุการณ์ตามความจริง ว่ากรรมกรถูกกดขี่ ไม่ค่อยจะมีกิน เป็นเหยื่อ ของความเขลา ความทุกข์ยากตกไปถึงลูก ๆ แต่ก็มิได้คิดจะต่อต้านพวก นายทุน ในทางตรงข้าม เขาเสนอภาพนายทุนที่มีความเป็นมนุษย์ตราบเท่าที่ ผลประโยชน์ของพวกเขาไม่ถูกกระทบ กรรมกรเป็นตัวละครที่เป็นเหยื่อ ของเหตุการณ์ ของทุน การแข่งขัน วิกฤติของตลาด เนื่องจากเกิดวิกฤติทาง อุตสาหกรรม เรื่องราวสำคัญในนวนิยายเรื่อง Germinal เกี่ยวพันกับการนัดหยุดงาน ครั้งใหญ่ในเหมืองแร่เมืองมงซูเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๖ ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจ มาจากเหตุการณ์นัดหยุดงานจริงในช่วงปลายสมัยจักรวรรดิที่ ๒ ซึ่งสิ้นสุดลง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายฝรั่งเศสยังมิได้ ยอมรับการก่อตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๔ สิ่งที่คนงาน เหมืองแร่ใน Germinal เรียกร้องให้มีการแก้ไขในขั้นแรก คือ การขึ้นค่าจ้าง ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการพยายามหาทางลดค่าใช้จ่าย ซอลาเสนอภาพ ความพยายามของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในการเจรจาเรื่องค่าจ้าง เมื่อการเจรจาล้มเหลว การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของคนงานจึงเริ่มขึ้น ซอลาชี้ให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรแรงงานสากลซึ่งไม่ประสบ ความสำเร็จในการจัดการเจรจา วิธีการเล่าเรื่องของซอลาช่วงเหตุการณ์นี้ ได้รับความชื่นชมอย่างดียิ่ง ในตอนท้ายของนวนิยาย ซอลาหลีกเลี่ยงการแตกหักโดยดำเนินเรื่อง ให้เกิดเหตุการณ์เหมืองถล่มขึ้น ซอลาให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้แรงบันดาลใจมา จากเหตุการณ์เหมืองแร่ถล่มในเขต ปา-เดอ-กาแล (Pas-de-Calais) ทาง ภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในตอนจบ เอเตียน ล็องตีเย (É tienne Lantier) ตัวเอกของนวนิยาย เดินไปตามถนน ที่นำเขาออกจากเหมืองแร่และมุ่งกลับสู่ปารีส ถึงแม้การต่อสู้ที่ผ่านมา ของเหล่าคนงานเหมืองแร่จะล้มเหลว แต่เอเตียนยังมีความหวังอยู่ในใจว่า สักวันหนึ่งพวกคนงานเหล่านั้นจะประสบชัยชนะได้ นวนิยายจบลงในเดือน เมษายนหรือเดือนแฌร์มีนาล (Germinal) ตามชื่อเดือนในปฏิทินที่ใช้ช่วง หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ เป็นการอธิบายความหมายชื่อเรื่อง ของนวนิยายให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนขึ้น อาร์ม็อง ลานู (Armand Lanoux) ผู้ได้รับรางวัลกงกูร์ (Goncourt) เขียนยกย่องนวนิยายเรื่อง Germinal เมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๘ ว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่อุทิศให้แก่ชนชั้นกรรมกร และ เป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซอลาเป็นนักเขียนคนเดียวที่หลุดออกจากยุคของ ชนชั้นกลาง Germinal คือเสียงร้องในฤดูใบไม้ผลิจากใจของผู้มีความคิด ก้าวหน้า ผศ. ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง พิมาย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ จากหลักฐานด้านจารึก ความโดยสรุปว่า พิมายเป็นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัด นครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางตะวันออกเฉียง เหนือ ๖๒ กม. คนทั่วไปรู้จักโบราณสถานแห่งนี้ว่า ปราสาทหินพิมาย มีเนื้อที่ ๕๖๕ x ๑๐๓๐ เมตร (เมืองพิมาย ๑๙๘๙: ๒๐) คำว่าพิมาย คงจะมาจาก พระนามของพระพุทธรูปประธานของปราสาทหินพิมาย พระนามว่า กัมรเต็ง ชคัต วิ มาย คำว่า วิมาย แปลว่า “สิ้นมายา” มายาเป็นคำสอนหลักของ
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=