2721_8517
6 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน หน้าที่และความสำคัญของครอบครัวโดยส่วนรวม ๑. เป็นแหล่งสร้างสมาชิกใหม่ ให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบสกุล ๒. ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่สมาชิกในครอบครัว ๓. ให้การหล่อหลอมอบรมบ่มนิสัยทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนถึงระเบียบของสังคมเพื่อ ให้สมาชิกตัวน้อย ๆ นั้น เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคมในอนาคต ๔. ส่งเสริมความเจริญเติบโตส่วนบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญาให้กับลูกหรือผู้อยู่ในอุปการะ ๕. สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของครอบครัว ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในระหว่างญาติมิตร ๖. เสริมสร้างให้สมาชิกของครอบครัวเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่เป็นตัวของตัวเอง มีอิสรภาพและความสามารถที่จะตัดสินใจกระทำสิ่งใด ที่ถูกต้องได้ ๗. กำหนดบทบาทและสถานภาพที่เหมาะสมให้กับสมาชิกใหม่ เพื่อให้สามารถรู้บทบาทและเล่นได้ถูกบทบาทเมื่อเติบโตขึ้น อีริค โฟรมม์ นักจิตวิทยาด้านสังคมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับ “ศิลปะการผูกรัก” ไว้ว่า ส่วนใหญ่มักจะสอนเด็ก ให้ถูกรักโดยคนอื่นและไม่ค่อยสอนให้เด็กรู้จักรักคนอื่น ซึ่งเป็นจุดอ่อน เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมา เด็กจะรักเป็นแต่ตัวเอง มองเห็น ความสำคัญของตัวเองเท่านั้น จำเป็นที่จะต้องช่วยกันแก้ค่านิยมดังกล่าว เริ่มสร้างและปลูกฝังกันใหม่ในครอบครัวของเรา การที่ จะมีครอบครัวที่มั่นคง สมาชิกในครอบครัวมีความสุข มีความรักความอบอุ่นเข้าใจซึ่งกันและกันได้นั้น ศิลปะการผูกรักมีความจำเป็น อย่างยิ่ง โฟรมม์ได้ให้แนวการสร้างศิลปะการผูกรักไว้ดังนี้ ๑. ทุกฝ่ายต้องรู้จักการเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน การเอาใจใส่ดูแลในที่นี้หมายถึง การมีความเอื้ออาทร ต่อกันในด้านความรู้สึก ด้านจิตใจ ด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ อนามัย การงาน ชีวิตประจำวัน ฯลฯ และควรมีความพอดี เพราะหากมาก เกินไปจะกลายเป็นการ “รบกวน” “หยุมหยิม” “จุกจิก” หรือ ถ้าน้อยไปก็กลายเป็นขาดการเอาใจใส่ดูแลไปเลย ๒. ต้องเข้าใจหรือรู้จักคนที่เรารัก (สามี/ภรรยา) เราควรจะศึกษาเพื่อให้รู้จักผู้ที่เรารักเป็นอย่างดี นอกจากรู้จักแล้วยังต้องเข้าใจ ผู้ที่เรารักด้วย ในปัจจุบันที่เกิดปัญหาครอบครัวขึ้น ก็เพราะมีแต่ “รัก” แต่ขาดความ “เข้าใจ” เพราะความรักอย่างเดียวนั้นอาจลดลงได้ หากอยู่กันนานไป แต่ความเข้าใจกันนั้นหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นตัวช่วยถนอมความรักไว้ให้อยู่ได้ตลอดไป ควรศึกษาให้รู้จักนิสัยใจคอ ของกันและกัน เพราะยิ่งอยู่กันนาน ๆ ไปความจำเป็นที่จะต้องศึกษารู้จักนิสัยใจคอกันอย่างดี ก็ยิ่งมีความจำเป็น การปรับตัวเข้าหากัน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง ๓. ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในที่นี้หมายถึง ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของกันและกัน เคารพในความคิดเห็นของกัน และกัน ไม่ใช่เคารพในการไหว้ แต่ในใจนึกด่าหรือดูถูกอยู่ตลอดเวลา หรือเคารพยกย่องในลักษณะเทิดทูนไว้บนหิ้ง (ภรรยา) เพราะไม่มีใคร ต้องการถูกยกไว้ “บนหิ้ง” หรือ “ขึ้นหิ้ง” การเคารพซึ่งกันและกันนั้นทำได้อย่างไร ทำได้โดยการยอมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่พอฝ่ายหนึ่งเอ่ยปาก อีกฝ่ายหนึ่งก็สั่งหยุดหรือดูถูกความคิดเห็นนั้น ๆ ต้องคิดว่า ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ที่แต่ละฝ่ายให้มานั้น อาจนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนาเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดีขึ้นได้ หรือทำให้เรามีมุมมองที่กว้างออกไป ไม่ใช่มองหรือยึดอยู่แต่ใน “ลู่” เดียวเท่านั้น การพูดถึงกันไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลังควรให้การยกย่องซึ่งกันและกัน ไม่ใช้ถ้อยคำในทางดูถูกหรือเหยียดหยาม เช่น อีแก่ที่บ้าน ตาเฒ่าที่บ้าน นอกจากนี้ การที่จะมีความเกรงใจซึ่งกันและกัน ปรกติแล้วหากอยู่กันไปนาน ๆ ความเกรงใจจะลดลง ฉะนั้น ต้องสร้างความเกรงใจต่อกันและกัน พัฒนาให้คงอยู่ ความเกรงใจนั้นต่างจากคำว่า “กลัว” คนส่วนมากมักจะเอาไปใช้ปนกับคำว่า “กลัว” พอใครพูดว่า “เกรงใจภรรยา” ก็รู้สึกเสียหน้าทันที ต้องเข้าใจใหม่ว่า คำว่า “เกรงใจ” ความหมายของคำเป็น “บวก” แยกให้ออก จากคำว่า “กลัว” หากใครกล่าวว่าคู่นี้สามีเกรงใจภรรยา หรือภรรยาเกรงใจสามี ให้ภูมิใจได้เลยเพราะภาพที่ได้เป็น “บวก” โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่เรามักจะเกรงใจผู้ที่เพิ่งพบ หรือเพิ่งรู้จักกันใหม่ หรือเกรงใจบุคคลที่ไกลตัว ส่วนคนใกล้ตัวเรามักจะ “ขาด” ความเกรงใจ หรือยิ่งอยู่กันมานานความเกรงใจจะค่อย ๆ ลดลง ควรจะต้องมาเปลี่ยนความรู้สึกกันใหม่ เพราะบุคคลที่เราควรเกรงใจคือ บุคคลที่เรารักใกล้ตัว หรือผู้ที่เรารักและอยู่กันมานาน ๔. มีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นบุคคลที่มี “วุฒิภาวะ” ทั้งทางด้าน “ร่างกาย” และ “อารมณ์” ความรับผิดชอบนี้จะครอบคลุมไปถึงความรับผิดและความรับชอบในบทบาทที่ตนรับอยู่ หรือในสิ่งที่ตน ได้กระทำลงไป ส่วนใหญ่มักจะชอบคำว่า “รับชอบ” แต่จะไม่ชอบ คำว่า “รับผิด” ทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาแล้วเป็นแนวคิดของอีริค โฟรมม์ ต่อการสร้างศิลปะการผูกรัก เมื่อผูกรักได้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง มีการ “ถนอมรัก” เพื่อให้การผูกรักนั้นคงทนถาวรต่อไป เทคนิคการถนอมรักให้คงทนถาวรอยู่ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กลยุทธ์ ครองรัก ครองเรือน ซึ่งจะขอกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้คือ
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=