2721_8517
2 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน สรุปการบรรยายเสนอผลงานค้นคว้าและวิจัย ของราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกต่อที่ประชุมสำนัก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง • วันพุธที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ศ. ดร.มนัส สุวรรณ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ดอยอินทนนท์ : ความเปราะบางต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความโดยสรุป ว่า ดอยอินทนนท์ เป็นดอยที่มียอดสูงสุดในประเทศไทย มีลักษณะภูมิ ประเทศเป็นภูเขาและที่สูง มีคุณค่าและความสำคัญหลายประการต่อจังหวัด เชียงใหม่เป็นการเฉพาะ และต่อประเทศโดยภาพรวม มีคุณค่าและความ สำคัญที่หลากหลายทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ การศึกษา นันทนาการ และ ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ในฐานะจุดหมายของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เนื่องจากดอยอินทนนท์อุดมไปด้วยพืชและสัตว์นานาพรรณ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องอนุรักษ์คุณค่าและความสำคัญดังกล่าวข้างต้นให้คงอยู่ ทั้งนี้เพราะหาก มีพืชและมีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์และหลากหลายชนิดปรากฏอยู่ ความ สมดุลและความยั่งยืนตามธรรมชาติของดอยอินทนนท์ก็จะยังปรากฏอยู่ ต่อไปเช่นกัน ในทางกลับกัน หากความหลากหลายทางชีวภาพบนดอยอินทนนท์ ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลง คุณค่าและความสำคัญทั้งมวลของดอยอินทนนท์ ก็ย่อมสิ้นสลายตามไปด้วย ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทรัพยากรที่มีความเปราะบาง ที่สุดต่อการถูกทำลาย ที่สำคัญที่ต้องตระหนักคือ การสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพ เพราะหากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายไป มีทรัพยากรอื่น เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ รวมตลอดจนลักษณะทางกายภาพ เช่น แหล่งต้นน้ำลำธาร อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ จะได้รับผลกระทบ ตามไปด้วย สถานการณ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทาง ชีวภาพบนดอยอินทนนท์ของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการ ก่อสร้าง การท่องเที่ยวและ/หรือการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เมื่อผนวกเข้ากับ ความเปราะบางของระบบนิเวศต่าง ๆ ด้วยแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ สูงมากที่จะเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นกับดอยอินทนนท์ ทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและ/หรือบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับ ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของดอยอินทนนท์จากกิจกรรม ของมนุษย์คือ การจัดการที่ตัวมนุษย์ในฐานะต้นเหตุที่สำคัญของปัญหา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธรรมชาติและความสำคัญ เชิงนิเวศวิทยาของดอยอินทนนท์ เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จะต้องทำให้คนเหล่านี้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ มีความรัก ความผูกพัน และความหวงแหนต่อทรัพยากร และถ้าสามารถทำสิ่งดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ ความรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลและการอนุรักษ์สืบสาน ทรัพยากรดังกล่าวจะเกิดตามมา และทำให้ทุกคนรู้ เข้าใจ และตระหนักเสมอว่า “ไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้” • วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ผศ. ดร.วงเดือน นาราสัจจ์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง สหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ ๑๙๒๐ : ความรุ่งเรืองและผลกระทบ ความโดยสรุปว่า ทศวรรษ ๑๙๒๐ เป็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า อย่างมาก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทั้งการเติบโต ของสังคมเมือง การดำเนินชีวิตของชาวอเมริกัน รวมทั้งการแสดงออก ของเสรีภาพทางความคิด และการสร้างสรรค์วัฒนธรรมราษฎร์แบบอเมริกัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเป็นสังคมยุคใหม่ ที่มีสภาพแตกต่างจากเดิม มีทั้งมหานครและเมืองใหญ่จำนวนมาก ประชาชน มีเสรีภาพมากขึ้น มีการบริโภคแบบฟุ่มเฟือย ดำเนินชีวิตแบบเสรีนิยม และแสดงออกทางความคิดหลากหลาย ทั้งทางการเมือง การสร้างสรรค์ วรรณกรรม และดนตรี ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอเมริกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทศวรรษ ๑๙๒๐ ได้แก่ (๑) การที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกายกเลิกกฎหมายการจัดเก็บภาษีในระหว่างสงคราม และลดการจัดเก็บภาษีเงินได้ของประชาชนลง ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม ขึ้น มีโอกาสบริโภคและจับจ่ายใช้สอยกันอย่างเต็มที่ จนเกิดสภาพคล่อง ทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมของผู้บริโภค (๒) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้จำนวน มากและรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้ามีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน (๓) การขยายตัว ของอุตสาหกรรมทำให้จำนวนผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลัง สงครามโลกครั้งที่ ๑ มีผู้อพยพเข้ามาสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก จนรัฐบาล ต้องออกกฎหมายควบคุมและจำกัดจำนวนผู้อพยพ และ (๔) รัฐบาลมีนโยบาย สนับสนุนเศรษฐกิจเสรี โดยออกกฎหมายกำแพงภาษีเพื่อคุ้มครองสินค้า อเมริกัน ลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ มีสภาพคล่องสูง แต่ก็ทำให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงินและกลายเป็น ปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำและขาย ไม่ออก ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก ผลการจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กประจำพุทธศักราช ๒๕๕๔ ตามที่ราชบัณฑิตยสถานได้จัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๖ ในหัวข้อเรื่อง “ศีล ๕” เพื่อรับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจัดพิมพ์สำนวนที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เป็นหนังสือ เพื่อพระราชทานในพระราชพิธีวิสาขบูชา นั้น ในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรวม ๑๗ สำนวน ราชบัณฑิตยสถานได้มอบหมายให้พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเดโช) ตรวจความถูกต้องด้านหลักธรรม ศ. ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ตรวจความถูกต้องด้านวิชาการอื่น ๆ รศ. ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ตรวจความถูกต้องด้านภาษาไทย และได้นำผลการตรวจพิจารณากราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและขอรับ พระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ดังนี้ รางวัลที่ ๑ ได้แก่ สำนวนของ นายเจตน์ ตันติวณิชชานนท์ ได้รับพระราชทานเงินรางวัล จำนวน ๕,๐๐๐ บาท รางวัลที่ ๒ ได้แก่ สำนวนของ นายกฤตชัย ชุมแสง ได้รับพระราชทานเงินรางวัล จำนวน ๓,๐๐๐ บาท รางวัลที่ ๓ ได้แก่ สำนวนของ นางสาวลินจง เหมือนเพชร ได้รับพระราชทานเงินรางวัล จำนวน ๒,๐๐๐ บาท
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=