2698_9000

6 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ตัดเส้นทางเดินทางของนางวันทองและขุนช้างจากสุพรรณบุรีมายัง อยุธยาเพื่อร่วมงานแต่งงานพระไวย อนึ่ง พระองค์ยังทรงเพิ่มเนื้อ ความบางตอนเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาด้วย คือ หลังจากทรงตัดเนื้อ ความตอนต้นแล้ว ทรงเริ่มเรื่องด้วยการเพิ่มข้อความ ๒ คำกลอนว่า นางวันทองและขุนช้างครองคู่กันอยู่ในสุพรรณบุรีอย่างมีความสุข ทำให้คนดูละครเข้าใจได้ดีว่าเหตุใดนางวันทองจึงครวญเมื่อเห็นขุนช้าง สลบและเข้าใจว่าตายแล้ว นอกจากนี้ ข้อความ ๒ คำกลอนที่เติมเข้า มานี้ยังเชื่อมเข้ากับข้อความที่ทรงตัดมาจากในบทเสภาว่าขุนช้างได้ ข่าวการแต่งงานของพระไวย ก็อยากจะไปร่วมงาน เมื่อนางวันทอง มาลาไปงานแต่งงานพระไวย ขุนช้างก็ยินดีและบอกตนจะตามไปในวัน รุ่งขึ้น ตอนนี้ทรงเพิ่มบทสนทนาระหว่างนางวันทองกับขุนช้างเพื่อ แสดงจริตของนางวันทองที่ตัดพ้อขุนช้างที่ไม่ไว้ใจตน เกรงว่านางยังคง มีเยื่อใยต่อขุนแผน ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าขุนช้างขาดความ มั่นใจตนเองเนื่องจากมีรูปอัปลักษณ์ และไม่เก่งเรื่องผู้หญิงเท่าขุนแผน นอกเหนือจากนี้ ยังทรงเติมบทอาบน้ำแต่งตัวของนางวันทองเพื่อ ให้มีนาฏการหรือการเคลื่อนไหวและแสดงให้เห็นว่านางวันทองเป็นคน รักสวยรักงาม บางตอนก็เติมเพื่อแสดงนิสัยของขุนช้างที่ชอบแสดง อำนาจต่อหน้าผู้อื่น คือ สั่งพระไวยต่อหน้าแขกที่มาร่วมงานแต่งให้ เรียกนางวันทองนำนางศรีมาลาและสร้อยฟ้ามาพบตนเพื่อรับของรับ ไหว้ โดยต้องการหักหน้าพระกาญจน์บุรี (ขุนแผน) ที่ไม่มีของรับไหว้ดี เท่าของขุนช้าง แสดงว่ามีนิสัยชอบแกล้งผู้อื่นและอวดมั่งมี ด้านการ อนุรักษ์สำนวนกลอน ทรงนำกลอนในบทเสภาเป็นจำนวนมากมาใช้ใน กลอนบทละครพระราชนิพนธ์ ในการสร้างสรรค์สำนวนกลอนและถ้อยคำสำนวนนั้น ทรงลด จำนวนคำ เพิ่มจำนวนคำ และปรับแปลงคำไปจากคำเดิมในวรรคของ กลอนเสภา ที่ลดจำนวนคำก็เพื่อให้ร้องละครได้สะดวกขึ้น ที่เพิ่มคำก็ เพื่อให้สื่อความหมายได้ชัดเจนขึ้น ส่วนที่ปรับเปลี่ยนคำก็เพื่อเพิ่ม สัมผัสในให้ไพเราะขึ้นหรือเพื่อให้สื่อความได้ชัดเจนมากขึ้น นอกเหนือ จากนี้ ทรงปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่องจากขับเสภาแบบโบราณให้ผู้อื่นฟัง เป็นเล่าในรูปแบบของการแสดงละครนอกบนเวทีที่เน้นการดำเนินเรื่อง อย่างรวดเร็ว และมีบทเจรจาหรือเจรจาติดจำอวด แทรกในเรื่อง ทำให้คนในยุคสมัยของพระองค์ยอมรับได้เพราะนิยมดูละครอยู่แล้ว แม้ว่าละครนอกจะไม่ใช่ละครรูปแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แต่ก็เป็นละครเวทีเช่นกัน ทั้งยังปรับเปลี่ยนบทเสภาให้ทันสมัยขึ้นคือ ทรงเปลี่ยนการใช้คำให้ทันสมัยหรือถูกต้อง เช่น เปลี่ยนจากคำ “ทอง ลิ่ม” “หัวละมาน” “เทพจร” เป็นคำว่า “ทองแท่ง” “หนุมาน” และ “ชีพจร” อนึ่ง ยังทรงปรับบทเสภาให้เป็นบทละครที่นำเสนอพฤติกรรม หรือบทบาทของตัวละครได้เด่นชัดขึ้น ด้วยการตัดกลอนเสภาที่มี เนื้อหายาวติดต่อกันให้เป็นกลอนบทละครบทสั้น ๆ เพื่อแยกบทบาท ของตัวละครแต่ละตัวออกจากกันหรือเพื่อแยกพฤติกรรมแต่ละอย่าง ของตัวละครตัวเดียวกันให้เด่นชัดขึ้น การเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย ให้คนร่วมยุค สมัยฟังอย่างอนุรักษ์นี้เห็นได้ชัดเจนว่าทรงทำสำเร็จด้วยการอนุรักษ์ เนื้อหาหลัก สำนวนกลอนและถ้อยคำสำนวนส่วนใหญ่ไว้ได้ ส่วนที่ทรง เปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสีสันให้แก่การแสดงละครคือ รายละเอียดปลีก ย่อยที่นอกจากจะไม่กระทบเนื้อหาหลักของเรื่องแล้ว ยังเสริมให้บท ละครเรื่องนี้โดดเด่นขึ้นว่าเดิมดังเห็นได้จากนิสัย พฤติกรรม และ บทบาทของขุนช้างที่ทรงปรุงแต่งจนเป็นตัวชูโรงที่สร้างความมีชีวิต ชีวาและสีสันให้แก่บทละครมากกว่าในบทเสภาซึ่งเป็นเรื่องเดิม ประการสำคัญ ความสำคัญของความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากพระปรีชา สามารถที่ทรงเลือกถ่ายทอดบทเสภาในรูปแบบของบทละครที่มี ฉันทลักษณ์ใกล้กันมาก ทำให้ทรงสามารถอนุรักษ์และสร้างสรรค์บท ละครเรื่องนี้ให้คงเดิมได้มากที่สุดดังที่ได้บรรยายไปแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิต บรรยาย เรื่อง “ จากศัพทมูลของ เซี่ยวกาง สู่คติทวารบาลของจีน” ความโดยสรุป ว่า ศัพทมูลวิทยาในปัจจุบันมักถือเป็นสาขาย่อยของวิชาภาษาศาสตร์ เชิงประวัติที่ศึกษาเฉพาะประวัติความเป็นมาของศัพท์แต่ละคำในภาษา ใดภาษาหนึ่ง วัตถุประสงค์หลักในการศึกษาก็เพื่อให้สามารถระบุหรือ กำหนดศัพทมูลหรือรูปเดิมของศัพท์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในแง่ รูปคำและความหมายของศัพท์นั้น ข้อมูลเบื้องต้น สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบาย คำว่า เซี่ยวกาง ไว้ว่า “เป็นชื่อเรียกรูปภาพที่เขียนหรือสลักติดตาม ประตูศาสนสถาน เช่น วัด โบสถ์ วิหาร ศาลเจ้า เป็นต้น แต่ที่เขียน หรือสลักไว้ตามบานพระทวารพระที่นั่ง ก็มี รูปร่างหน้าตาออกจะ แปลก มีหนวดเครารุ่มร่าม มักจะทำให้ยืนอยู่บนหลังสิงโต ท่าที กระเดียดไปทางจีน เรียกกันว่า เขี้ยวกาง ก็มี จรีกาง ก็มี” ส่วน ปทานุกรมฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ไม่เก็บคำ ว่า เซี่ยวกาง แต่เก็บคำว่า จรี จรีกาง จรีรำ แต่ไม่บอกว่ามาจากภาษา ใด ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ให้นิยาม เซี่ยวกาง ไว้ว่า “น. รูปทวารบาล คือ ผู้รักษา ประตู มักทำไว้ ๒ ข้างประตู” โดยไม่บอกว่ามาจากภาษาใด นอกจาก นี้บทความในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังได้สรุปสาระของ เซี่ยวกางไว้เป็นอย่างดี ศัพทมูลของคำว่า เซี่ยวกาง ตามที่มีการวิเคราะห์กันมา สรุป ประเด็นได้คือ รูปปัจจุบัน คือ เซี่ยวกาง ความหมายคือ รูปทวารบาลที่ เขียนหรือสลักบนบานประตูทั้ง ๒ ข้าง ภาษาต้นแหล่งสันนิษฐานว่ามา จากภาษาจีน รูปคำอื่นที่เนื่องกับเซี่ยวกาง พบรูปอื่นนอกจาก เซี่ยวกาง คือ เขี้ยวกาง จรีกาง เสี้ยวกาง และ ซ่ยวกาง เมื่อศึกษาที่มาของรูปคำดัง กล่าวแล้วสรุปว่าเหลือคำที่ควรพิจารณาเพียงรูปเดียว คือ เซี่ยวกาง เซี่ยวกาง คือ ทวารบาล หรือ มึ่งซิ้น ในภาษาไทย เซี่ยวกาง หมายถึง รูปทวารบาลที่เขียนหรือสลักไว้บนบานประตูทั้ง ๒ ข้าง สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภาษาเดิมที่แปลว่า ผู้เฝ้าประตู พระเจนจีน อักษรกล่าวว่าทางจีนก็มีรูปที่ทำไว้ตามประตูเหมือนกัน เรียกว่า มึ่งซิ้น แปลว่า เทวดารักษาประตู มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ว่าคำว่า เซี่ยวกาง มาจากอะไร ดังนี้ ข้อสันนิษฐานที่ ๑ เซี่ยวกาง มาจาก กิมกาง ข้อสันนิษฐานที่ ๒ เซี่ยวกาง มาจาก ซิวมึ้งกง หรือ เซียวมึ้งกง ข้อสันนิษฐานที่ ๓ เซี่ยวกาง มาจาก จิ้นกางเสี่ยว ข้อสันนิษฐานที่ ๔ เซี่ยวกาง มาจาก เซ่ากัง ข้อสันนิษฐานทั้ง ๔ ข้อ ดังกล่าวยังไม่อาจถือเป็นข้อยุติได้ทั้ง ในแง่ของเสียงและความหมาย ดังนั้นการสืบค้นศัพทมูลของเซี่ยวกาง จึงต้องเริ่มใหม่จากทวารบาลของจีน ซึ่งรวมไปถึงคติมหายานด้วย

RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=