2694_6723
7 ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒๓๘ เดือนมีนาคม ๒๕๕๔ Common Era คือศักราชอะไร และควรเรียกในภาษาไทยอย่างไร ผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้จากตำรับตำราภาษาอังกฤษ ไม่เฉพาะในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ในหนังสือวิชาการด้านอื่น ๆ ด้วยที่ต้อง เอ่ยถึงศักราช อาจจะงงกับศักราชที่ปรากฏในหนังสือ เช่น 476 C.E. แทนที่จะใช้ 476 A.D. หรือ 551 B.C.E. แทนที่จะใช้ 551 B.C. คำว่า C.E. หรือ B.C.E. คืออะไร C.E. มีคำเต็มว่า Common Era B.C.E. มีคำเต็มว่า Before the Common Era ก่อนที่จะกล่าวถึงว่า C.E. หรือ Common Era เกิดขึ้นและใช้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเหตุใด ขอกล่าวถึงว่า ในโลกของเรา มีการใช้ศักราชกันหลากหลาย แต่ศักราชสำคัญที่เรารู้จักกันดี คือ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) พุทธศักราช (พ.ศ.) ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ศักราชเหล่านี้เป็นศักราชที่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือศักราชทางศาสนา (การเริ่มต้นนับก็มีเหตุผลต่างกัน ซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะไม่ เกี่ยวกับประเด็นที่จะกล่าว) ในศักราชดังกล่าวที่แพร่หลายและใช้กันในวงวิชาการมากที่สุด คือ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) แต่เนื่องจากเป็น ศักราชทางศาสนา ทำให้ผู้คนต่างศาสนา ต่างอารยธรรมอาจไม่ชอบใจที่จะใช้ ดังนั้น นักวิชาการจึงคิดศักราชแบบใหม่ขึ้นมา โดยไม่ให้ เกี่ยวข้องกับศาสนา เพื่อจะได้ใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้สะดวกในการศึกษาค้นคว้ามากขึ้น ไม่ต้องคิดว่าเป็นศักราชของศาสนาอะไร ไม่ต้อง คิดเทียบมาเป็นศักราชของศาสนาตนเอง ศักราชแบบใหม่นี้ เรียกว่า Common Era ใช้ตัวย่อว่า C.E. และเวลาก่อน C.E. ใช้ว่า Before the Common Era ใช้ตัวย่อว่า B.C.E. สำหรับตัวเลขศักราช ใช้ตัวเลข ค.ศ. (A.D.) หรือก่อน ค.ศ. (B.C.) เช่น 551 B.C.E. ก็คือ 551 B.C. 476 C.E. ก็คือ 476 A.D. ขอทำความเข้าใจว่า ผู้เขียนได้ตรวจสอบตำราทางวิชาการมากพอควร ไม่ปรากฏว่า มีคำเต็มของ C.E. หรือ B.C.E. เป็นอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า มีผู้รู้ (ซึ่งผู้เขียนมีความชื่นชมและได้ความรู้จากข้อเขียนของท่านมาก) อธิบาย “CE เป็น ตัวย่อของ Common Era ซึ่งหมายความถึง Christian Era และ Current Era… BCE หมายถึง Before Common Era หรือ Before the Christian Era หรือ Before the Current Era” ( มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๕๗๕ ๒๒-๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓) ซึ่งผู้เขียนออกจะเป็น ห่วงว่า จะทำให้เข้าใจไขว้เขวและเกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน จริงอยู่ตัว C. อาจย่อมาจากคำต่าง ๆ มากมาย ทั้ง Common, Christian, Current แต่นั้นก็จะผิดความมุ่งหมายของการคิดใช้ C.E. ซึ่งไม่ต้องการให้เกี่ยวข้องกับศาสนา ดังนั้น คำเต็มของ C.E. ใน เรื่องนี้ คือ Common Era และ B.C.E. ก็ทำนองเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกขัดข้องว่าเป็นศักราชของต่างศาสนา ต่าง อารยธรรม แต่เป็นศักราชที่ใช้ร่วมกัน (Common Era) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการศึกษาหาความรู้ อีกทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันเรื่อง เวลา เพราะการเทียบศักราชอาจคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งเราก็พบกันอยู่บ่อยไป ในเรื่องเทียบ พ.ศ. เป็น ค.ศ. หรือจาก ค.ศ. เป็น พ.ศ. ในช่วง เวลาก่อนที่จะเราจะเริ่มต้นปีใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทีนี้มาถึงอีกประเด็นหนึ่ง คือ เราจะเรียก Common Era (C.E.) ในภาษาไทยอย่างไร และใช้ตัวย่ออย่างไร หลายปีมาแล้ว ผู้เขียน เคยเขียนบทความเสนอให้ใช้ ศักราชร่วม (ศ.ร.) ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เสนอให้ใช้สากลศักราช (ส.ศ.) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนัก ธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถานเสนอให้ใช้ สากลศักราช (ส.ศ.) ความเห็นดูจะยังไม่เป็นที่ลงรอยกัน จึงไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา มีเหตุผลคือ เป็นความทันสมัยทางวิชาการที่ควรรู้และเข้าใจตรงกัน และควรมีการบัญญัติคำนี้ใช้ในภาษาไทย . รองศาสตราจารย์วุฒิชัย มูลศิลป์
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=