2691_4317

7 ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒๓๕ เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ผู้สนใจบทความดังกล่าวขออนุญาตค้นคว้าได้ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารราชบัณฑิตยสถาน ห้องสมุดราชบัณฑิตยสถาน โทรสารหมายเลข ๐ ๒๓๕๖ ๐๔๙๒ หรือทางเว็บไซต์ www.royin.go.th ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ • วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ บรรยายเรื่อง ชุมชนจีนในประเทศไทย : หลากหลาย สำเนียงจีน ความโดยสรุปว่า คนจีนเดินทางมาเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่ จะเป็นพ่อค้าชาวจีนที่เดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย ต่อมาในสมัยอยุธยา พ่อค้าชาวจีน ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและช่วยด้านการค้าสำเภาของไทยด้วย สมัยกรุงธนบุรีสนับสนุน ให้พ่อค้าชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในเมืองไทย จึงมีชาวจีนเดินทางมา ค้าขายตามหัวเมืองแถบชายทะเลตะวันออก กรุงธนบุรี และลงไปถึงหัวเมืองทางใต้ โดยเฉพาะที่กรุงธนบุรีมีชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การค้าขายระหว่าง ไทยและจีนเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของไทย สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่กีดกันชาวจีนที่ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ทั้งยังจัดให้ชาวจีนเป็น “กลุ่มคนนอกระบบไพร่” ชาวจีนจึงไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน มีความเป็นอิสระ สามารถประกอบอาชีพที่ถนัดและ เดินทางไปค้าขายตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้ เมื่อมีการอพยพเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น จึงมี การเก็บภาษีค่าแรงงานชาวจีนครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย เรียกว่า “การผูกปี้ข้อมือจีน” ชาวจีนที่เสียภาษีแล้วจะมีไหมสีแดงผูกที่ข้อมือ ต่อมา ได้ยกเลิกการผูกปี้ข้อมือในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ จำแนก ตามกลุ่มภาษาถิ่นได้ ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มที่พูดสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋ว ร้อยละ ๖๐ แคะ ร้อยละ ๑๖ ไหหลำ ร้อยละ ๑๑ กวางตุ้ง ร้อยละ ๗ ฮกเกี้ยน ร้อยละ ๔ และชาวจีน ที่ไม่ได้อยู่ใน ๕ กลุ่มนี้ อีกร้อยละ ๒ ชาวจีนแต้จิ๋ว เรือสำเภาของชาวจีนแต้จิ๋วเดินทางมาเมืองไทยแล้วขึ้นที่เมือง จันทบุรี ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนมากจึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรี มีความถนัดในการแล่น เรือและการประมง ดังนั้นจึงมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพไปที่ชลบุรีตั้งเป็นชุมชนประมง มี กิจการเรือประมง ส่วนพวกที่ถนัดเรื่องการเกษตรที่จันทบุรีก็ปลูกพริกไทยจนเป็น สินค้าขึ้นชื่อของเมืองนี้ ชาวจีนแต้จิ๋วมีความสนิทกับคนไทยทั้งด้านสังคมและ วัฒนธรรม ที่เห็นชัดเจนคือภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วกลายเป็นภาษาในวงการค้าขาย คำยืมในภาษาไทยก็ยืมคำจากภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นจำนวนมาก ชาวจีนแคะ ชาวจีนแคะบางกลุ่มอพยพมาเมืองไทยแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาค กลางและภาคกลางตอนบนของไทย อาชีพที่ถนัดคืองานช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่าง ฟอกหนัง ช่างทำเครื่องหนัง ช่างตัดผม ช่างเงิน จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่ชาว จีนแคะอาศัยอยู่มาก บางกลุ่มย้ายถิ่นฐานไปภาคเหนือ คือ ลำปาง น่าน เชียงราย และแพร่ และบางกลุ่มที่อพยพไปขึ้นบกทางใต้ของไทยก็ตั้งถิ่นฐานที่สงขลา ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา เจ้าของร้านอาหาร ชาวจีนแคะมีอัตลักษณ์เป็นที่ ยอมรับกันว่าเป็นพวกที่ชอบเก็บตัว ใฝ่หาความรู้ ยึดมั่นในจารีตประเพณี ชาวจีนไหหลำ ชาวจีนไหหลำมีความเชี่ยวชาญด้านการประมงและการเดิน เรือ การเกษตร ป่าไม้ และโรงเลื่อย เมื่อเดินทางมาไทยก็ตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่ง ทะเล และที่ราบลุ่มแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แถบปากน้ำโพ นครสวรรค์ บางส่วนเดิน ทางต่อขึ้นเหนือไปทำป่าไม้สัก อาหารของชาวจีนไหหลำซึ่งเป็นที่นิยม คือ ข้าวมันไก่ ขนมจีนไหหลำ จับฉ่ายไหหลำ ข้าวต้มไหหลำ ส่วนศิลปะการแสดงของชาวจีนไหหลำ ที่มีความสัมพันธ์กับไทย คือ หุ่นไหหลำ ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนกวางตุ้งเดินทางมาค้าขายกับเมืองไทยตั้งแต่สมัย อยุธยาและตั้งถิ่นฐานในตัวเมืองอยุธยา และตามเมืองในภาคกลางตามชายฝั่งทะเล อ่าวไทย ชาวจีนกวางตุ้งมักประกอบอาชีพที่ถนัดคือช่างหรืองานฝีมือ โดยเฉพาะ การทำอาหาร งานช่างกลึง การประกอบเรือ ซ่อมเรือ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนฮกเกี้ยนเดินเรือมาค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวจีน ฮกเกี้ยนที่ตั้งถิ่นฐานที่อยุธยามักตั้งบ้านเรือนที่ย่านในไก่ ย่านป้อมเพชร และแพหน้าวัด พนัญเชิง ประกอบอาชีพพ่อค้า ช่างฝีมือ เกษตรกรเลี้ยงหมู นักแสดงงิ้ว แพทย์จีน และ รับราชการ ชาวจีนฮกเกี้ยนบางส่วนขึ้นฝั่งที่หัวเมืองชายทะเลแถบตะวันออกของไทย และตั้งถิ่นฐานที่ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราและแถบลุ่มเจ้าพระยา บาง ส่วนไปที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและคาบสมุทรมลายู ในสมัยกรุงธนบุรีชาวจีนฮกเกี้ยน เข้ารับราชการด้วย จนเจริญก้าวหน้าได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ เช่น จีนเหยียง (ต้นตระกูล ณ สงขลา) ได้ยศเป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ ชาวจีนฮกเกี้ยนมักตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน สร้างบ้านเดี่ยวที่เรียกว่า “บ้านตึกดิน” มีการสร้างศาลเจ้าเพื่อประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนา ชาวจีนฮกเกี้ยนส่วนใหญ่ยากจนแต่ด้วยความขยัน อดทน อุตสาหะ และหาช่อง ทางทำกินด้วยการค้าขายจึงค่อย ๆ ตั้งตัวเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ได้ นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขา วิชาประติมากรรม บรรยายเรื่อง มิเกลันเจโล : ประติมากรที่กาลเวลามิอาจลืม เลือน ความโดยสรุปว่า มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรติ เป็นประติมากรเอกแห่งเมือง ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี มีชีวิตอยู่ในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๗๕- ๑๕๖๔ ผลงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นเป็นรูปแบบของร่างกายมนุษย์ วัสดุที่ใช้คือ หินอ่อนที่ได้มาจากแหล่งหินที่เมืองการ์รารา ซึ่งทั้ง ๒ สิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ อัจฉริยภาพของมิเกลันเจโลปรากฏออกมาเป็นประติมากรรมให้มนุษยชาติได้ชื่นชม อัจฉริยภาพแรก คือ ความรู้ ความสามารถ และฝีมือเป็นเลิศในการใช้รูปร่างกาย มนุษย์เป็นรูปแบบในการสร้างสรรค์ประติมากรรม ผลงานที่แสดงอัจฉริยภาพนี้คือ ผลงานที่ชื่อ David ซึ่งจะเห็นว่ามิเกลันเจโลมีความรู้ในเรื่องกายวิภาคของมนุษย์คือ เรื่องของกระดูกและกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีฝีมือในการแกะสลักหินอ่อน ได้ชัดเจน ทำให้ประติมากรรมรูปร่างกายมนุษย์ในรูปแบบสัจนิยมไม่มีชิ้นใดจะมี คุณค่าเสมอเหมือนได้เลย อัจฉริยภาพที่ ๒ มิเกลันเจโลมีความเข้าใจในรูปแบบและความหมายของทัศน- ธาตุ โดยเฉพาะเรื่องรูปทรงกับที่ว่างและเรื่องของวัสดุ และสามารถนำมาผสมผสาน กับเนื้อหาของประติมากรรมได้อย่างกลมกลืน ผลงานที่สื่อความหมายนี้คือ ประติมากรรมหินอ่อนที่ชื่อ “Moses” อัจฉริยภาพที่ ๓ สามารถใช้เทคนิคและวิธี การมาสื่อความหมายร่วมกับรูปทรงและเนื้อหาของประติมากรรมได้อย่างสมบูรณ์ แบบ คือผลงานที่ชื่อ The Awakening Giant อัจฉริยภาพที่ ๔ สามารถผสมผสานคุณลักษณะของงานจิตรกรรมและ ประติมากรรมได้อย่างกลมกลืนนำมาซึ่งการเน้นเนื้อหาส่วนหลัก ส่วนรอง และส่วน เสริมอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือ ผลงานที่ชื่อ Duomo Pieta เพราะมิเกลันเจโล มีความสามารถทั้งทางจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และกวีนิพนธ์ อัจฉริยภาพที่ ๕ คือการสลักลมหายใจของมนุษย์ซึ่งแสดงออกในผลงานที่ชื่อ Duomo Pieta เช่นเดียวกัน รวมทั้งการใช้กิริยาอาการของมนุษย์มาร่วมสื่อความ หมายด้วย กล่าวโดยสรุปคือ มีเกลันเจโล มีรูปแบบรูปร่างกายของมนุษย์ที่เขามีความรู้ และความเข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นสื่อ มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของวัสดุ เทคนิค และกระบวนการทางเทคนิค รวมทั้งรูปแบบและความหมายของทัศนธาตุ โดยนำมาหลอมรวมกันเป็นความสมบูรณ์แบบอันสูงสุดของการสร้างสรรค์ ประติมากรรม ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ก้าวเข้ามาในอาณาจักรของการสร้างสรรค์ ประติมากรรมก็จะได้พบกับมีเกลันเจโลด้วย เพราะมีเกลันเจโลคือภูมิปัญญาอัน สูงสุดของการสร้างสรรค์ประติมากรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในวิถีแห่งความเป็น นิรันดรของกาลเวลา

RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=