2691_4317
6 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ๓. ปัจจุบันผู้สอนมีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งการสอนผู้สอนต้องมีความอดทน อด กลั้น เสียสละ และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนด้วยความรัก ๔. ผู้เรียนต้องมีใจรัก มีความมุ่งมั่น อดทน เพราะการฝึกหัดโขนโดยเฉพาะตัว ลิงนั้นเป็นเรื่องยากมาก ๕. นักแสดงโขนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการแสดงโขนโดยเฉพาะกระ- บวนท่าที่ต้องแสดงร่วมกัน เช่น ท่ารบขึ้นลอย ๖. สถานที่แสดง เช่น การแสดงโขนกลางแปลงที่แสดงบนสนามหญ้า บางครั้ง พื้นผิวสนามหญ้าไม่เท่ากัน มีหลุม หรือมีน้ำนอง ทำให้แสดงออกท่าทางได้ไม่เต็มที่ ๗. เครื่องแต่งกายโขน เช่น เครื่องแต่งกายมีน้ำหนักมาก หัวโขนใหญ่เกินไป กระบวนท่าทางต่างๆ ของโขนลิงนับเป็นนาฏยประดิษฐ์ที่ทรงคุณค่า มีวิวัฒนาการ ต่อเนื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล นับเป็นศิลปะพิสุทธิ์ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นด้วยจิตวิญญาณ แห่งความเป็นไทย สืบทอดสู่เยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เสน่ห์แห่งโขนลิงในการแสดง โขนยังคงเป็นนาฏกรรมที่อมตะอยู่ชั่วนิรันดร์ • วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช กงกะนันท์ ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาประยุกต์ ศิลป์ สาขาวิชามัณฑนศิลป์ บรรยายเรื่อง เครื่องเรือนโบราณ ความโดยสรุปว่า เมื่อ กล่าวถึงเครื่องเรือนโบราณ ผู้บรรยายจะนำเสนอเฉพาะเรื่องของขาเครื่องเรือน เท่านั้น โดยเริ่มต้นที่สมัยอียิปต์ สมัยชิปเพนเดลของอังกฤษ-ยุโรป สมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ของฝรั่งเศส และข้ามมาตะวันออกที่สมัยราชวงศ์หมิงของจีน และ ท้ายสุดของไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยสังเขป สรุปด้วยภาพ รูปแบบของขาเครื่อง เรือน โดยเฉพาะเท้าสิงห์และเท้าสัตว์อื่น เครื่องเรือนอียิปต์โบราณ (๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) เมื่อสมัยเริ่ม ต้น ชาวอียิปต์จะนั่งหรือนอนบนพื้น อาจมีเสื่อที่ทำด้วยใบปาปีรัส ใบปาล์ม หรือใบ หญ้าแห้งอื่น ๆ ปูรองเท่านั้น ภายหลังต่อมาในสมัยจักรวรรดิเก่า (Old Kingdom) เครื่องเรือนชิ้นแรกคือเก้าอี้เตี้ย (STOOL) ธรรมดาซึ่งใช้กันทั่วไป แต่มีเงื่อนไขอยู่ บ้างก็คือ เก้าอี้เตี้ยดังกล่าวใช้สำหรับคนสำคัญ เช่น พ่อบ้านหรือหัวหน้าครอบครัว หรือแขกที่มาเยี่ยมนั่งเท่านั้น พื้นที่นั่งถักด้วยเชือกหรือปูด้วยหนังสัตว์ โค้งแอ่นตรง ส่วนกลาง ปลายขาสลักเป็นรูปเท้าสัตว์ เช่น แพะ กวาง หรือวัว นอกจากนี้แล้วยังมี เก้าอี้พร้อมพนัก เตียงที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น สำหรับวางมัมมี่ และเตียงนอนธรรมดา พื้นเตียงถักด้วยเชือกและปูทับด้วยผ้าอีกทีหนึ่ง ปลายขาเตียงสลักเป็นรูปเท้าสัตว์ เช่นเดียวกัน เครื่องเรือนยุโรป-อังกฤษโบราณ เครื่องเรือนของยุโรปและอังกฤษที่มีขาเป็น รูปเท้าสัตว์ ขอนำเสนอเพียง ๒ แบบ คือ แบบชิปเพนเดล (อังกฤษ) และ แบบหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยเก้าอี้ธรรมดาและชนิดมีเท้าแขน โต๊ะ สำหรับตั้งเคียง (SIDETABLE) โต๊ะแต่งตัว โต๊ะมีลิ้นชัก โต๊ะกลาง โต๊ะกลม หีบไม้ใส่ ของหรือเครื่องนุ่งห่ม เก้าอี้นั่งพักผ่อน และหีบใส่ของสำหรับการแต่งงานหรือ สินสอด ซึ่งเป็นของประเทศอิตาลี เครื่องเรือนจีนโบราณ เครื่องเรือนของจีนในสมัยโบราณมิได้เป็นเครื่องเรือน เช่นเดียวกันกับอียิปต์ ซึ่งขอเลือกนำเสนอเครื่องเรือนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๘๗) เนื่องจากขาของเครื่องเรือนสมัยนี้เป็นรูปเท้าสิงห์หรือเท้าสัตว์อันตรง กับเรื่องหลักที่นำเสนอ เครื่องเรือนของสมัยนี้มีประมาณ ๖ ชนิด คือ ๑. เก้าอี้-เก้าอี้แบบไม่มีพนัก ๒. โต๊ะแบบมีหรือไม่มีลิ้นชัก ๓. ตู้และหีบเก็บของ ๔. เตียงและตั่ง ๕. แท่นและหิ้งวางของ ๖. ฉากกั้นห้อง เครื่องเรือนเหล่านี้ทำด้วยไม้มีราคา เช่น ไม้มะฮอกกานี ไม้จันทน์ ไม้แดง ฯลฯ แลดูบอบบางแต่นุ่มนวล มีลวดลายที่เรียบง่าย ประกอบขึ้นอย่างแข็งแรง มี เอกลักษณ์ต่างจากเครื่องเรือนสมัยอื่น เครื่องเรือนไทยโบราณ เครื่องเรือนของไทยที่นำข้อมูลมาเสนอในครั้งนี้มีเท้า สิงห์ประกอบอยู่ด้วยทุกภาพ “เท้าสิงห์ คือ ลักษณะของคุรุภัณฑ์ เช่น โต๊ะ ตู้ และ ตั่ง ที่ทำเป็นรูปขาของสิงห์ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพนิยาย ขาสิงห์มีลักษณะโค้งคล้ายขา ของสิงห์ โคนขาจำหลักเป็นหน้าสิงห์ ปลายขาสลักเป็นเท้าสิงห์เหยียบอยู่บนลูก แก้ว” (ที่มา : พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐) การดำเนินชีวิตของคนไทยแต่โบราณนั้นคล้ายกับอียิปต์และจีนดังที่กล่าวแล้ว ผู้เขียนนำเสนอเครื่องเรือนไทยโบราณโดยเฉพาะเครื่องเรือนที่มีเท้าสิงห์ เมื่อ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีเครื่องเรือนที่มีรูปทรงเหมือนกันแต่มีขาต่างกันอีก ๒ ชนิด คือ ขาคู้และขาหมู เครื่องเรือนดังกล่าวคือตู้พระธรรม ซุ้มพระ เก้าอี้ และตั่ง เครื่อง เรือนเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยต่าง ๆ ที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเครื่องเรือนสมัยปลาย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒ รองศาสตราจารย์ ดร.นววรรณ พันธุเมธา ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณ ศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย บรรยายเรื่อง ไวพจน์ ความโดยสรุปว่า คำว่า ไวพจน์ โดยทั่วไป เข้าใจกันว่า มีความหมายตรงกับคำว่า synonym ในภาษาอังกฤษ คือ คำที่ออกเสียงต่างกัน เขียนต่างกัน แต่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน เช่น รอ กับคอย น้ำกับวารี ถ้าพิจารณาที่มาของคำ ไวพจน์มาจากคำเววจน ในภาษาบาลี ซึ่งพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายว่า synonym ดังนั้นความเข้าใจที่ว่า ไวพจน์มีความหมายตรงกับคำว่า synonym จึงถูกต้อง อย่างไรก็ตาม พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ใช้คำไวพจน์ใน ความหมายที่ต่างออกไป ท่านเขียนแบบสอนหนังสือไทยที่เกี่ยวกับไวพจน์ไว้หลาย ฉบับ เช่น ไวพจน์พิจารณ์ ไวพจน์ประพันธ์ และ ปกีระณำพจนาดถ์ เมื่อพิจารณา ไวพจน์ที่พระยาศรีสุนทรโวหารรวบรวมไว้ เราอาจถือได้ว่า ไวพจน์คือคำที่มีเสียง เหมือนหรือคล้ายกันทั้งคำหรือเฉพาะบางพยางค์ คำที่มีเสียงเหมือนกันอาจสะกด เหมือนกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ความรู้เรื่องไวพจน์มีประโยชน์ต่อการเขียนและการใช้คำ ทั้งยังมีประโยชน์ ทางอ้อมต่อการใช้ภาษาที่ประณีตยิ่งขึ้น คือแต่งคำประพันธ์ กวีไทยแต่เดิมมานิยม เล่นคำโดยอาศัยไวพจน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นคำในบทชมดงและบทนิราศ ไวพจน์ที่กวีใช้ในบทชมดงหรือบทนิราศมักซ้ำกัน แต่แม้จะใช้ไวพจน์เดียวกัน การ เล่นคำของกวีแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ถือเป็นเรื่องของฝีมือ กวีแสดงความสามารถ เชิงกวีได้โดยเลือกสรรไวพจน์ที่เหมาะกับความและซ้ำคำไวพจน์ได้จำนวนมาก ไวพจน์มิได้ปรากฏเฉพาะในบทพรรณนาอย่างบทชมดงและบทนิราศเท่านั้น ใน บทเจรจาก็มีไวพจน์อยู่ไม่น้อย เช่น ใน เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองกับ ขุนแผนตอบโต้กันโดยเล่นคำไวพจน์ สัตย์ กับ สัด ใน บทละครนอกเรื่อง คาวี นาง คันธมาลี มเหสีของท้าวสันนุราชกล่าวตอบโต้หลวิชัย ซึ่งแปลงเป็นฤๅษี โดยเล่นคำ ไวพจน์ ขันตี กับ ขัน ด้วยเหตุที่คนไทยมีสำนึกเกี่ยวกับไวพจน์ ไวพจน์จึงมีบทบาทในการใช้ถ้อยคำ ของคนไทย ในสมัยก่อน มีคำบางคำที่ห้ามมิให้กราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าเป็นคำหยาบ เช่น หมามุ่ย ต้นทอง ฟักทอง และผักตบ ต้องเปลี่ยนเป็น เถามุ่ย ต้นปาริชาติ ฟักเหลือง และผักสามหาว คำเหล่านี้กลายเป็นคำหยาบไปได้ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงชื่อพืชผัก ก็เพราะเป็นไวพจน์กับคำที่ใช้ด่าหรือสื่อความหมายไปใน ทางรุนแรง นอกจากนี้ นักเล่าเรื่องขันก็อาจใช้ประโยชน์จากไวพจน์ได้โดยเล่าถึงความ เข้าใจผิดอันเนื่องมาจากไวพจน์ นักเขียนหลายคนก็ได้อาศัยไวพจน์สื่ออารมณ์ขัน ปริศนาคำทายก็มักจะอาศัยความกำกวมที่เกิดจากไวพจน์ ทำให้ผู้ทายงงตอบไม่ได้ ในด้านคติความเชื่อ ไวพจน์ก็มีบทบาทอยู่เหมือนกัน คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าเลข ๙ เป็นเลขมงคล อาจเป็นเพราะ เก้ามีเสียงพ้องกับคำว่า ก้าว และคนไทยอีกไม่น้อย นิยมปลูกต้นไม้บางชนิดในบ้าน แต่จะหลีกเลี่ยงไม่ปลูกต้นไม้บางชนิดเพราะเรื่องของ ชื่อ ต้นไม้ที่นิยมปลูกจะมีชื่อพ้องกับคำที่มีความหมายไปในทางดี เช่น มะยม-นิยม มะขาม-ขาม ขนุน-หนุน ต้นไม้ที่ไม่นิยมปลูกจะมีชื่อพ้องกับคำที่มีความหมายไปใน ทางไม่ดี เช่น พุทรา-ซา มะไฟ-ไฟ ระกำ-ระกำ ไวพจน์มิได้มีความสำคัญเฉพาะในภาษาไทยภาคกลางเท่านั้น ในภาษาไทยถิ่น เหนือ ถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นนอกประเทศ ก็มีตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก ไวพจน์ ตัวอย่างทั้งหมดแสดงว่าคนไทยและคนไทถิ่นมีสำนึกเกี่ยวกับไวพจน์กันมาช้า นาน และมักจะโยงความหมายของคำที่เสียงเหมือนหรือคล้ายกัน คนไทยจำนวน มากตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงกวีนำไวพจน์มาใช้เล่นกับภาษา คนไทยอีกไม่น้อยถือว่าสิ่ง ต่างๆ จะเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล แล้วแต่เสียงของคำว่าพ้องกับคำที่มีความหมาย เป็นมงคลหรือไม่ ไวพจน์มีความสำคัญต่อคนไทยและคนไทถิ่น ทั้งในด้านการใช้ ภาษาและคติความเชื่อตลอดมา และก็คงจะมีความสำคัญเช่นนี้ตลอดไป
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=