2689_5214
4 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ก่อนกล่าวเรื่องสันติภาพและอหิงสาในพระอภัยมณี ควรทำความเข้าใจ นิยามของคำว่าสันติภาพและอหิงสาให้ตรงกันเสียก่อน “สันติภาพ น. ความสงบ เช่น โลกต้องการสันติภาพ จงร่วมมือกันรักษาสันติภาพของโลก (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒ : ๑๑๖๖)” “อหิงสา, อหึงสา น. ความไม่ เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒ : ๑๓๔๑) นี่คือความหมายทั่วไปโดยย่อของคำทั้งสอง ซึ่งไทยรับมาจาก ภาษาบาลีสันกฤตของอินเดีย แต่สำหรับชาวฮินดูในอินเดีย สันติหรือศานติ หมายถึง ความสงบทางจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการระงับความรู้สึกทั้งปวงที่จะ มาทำลายความสงบทางจิต เช่น ความโกรธ ความแค้น ความโลภ ตรงกับคำว่า peace ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคนไทยแปลว่า สันติภาพ ส่วนอหิงสานั้น ครูทางจิต วิญญาณหรือคุรุ รวมทั้งมหาตมาคานธีแปลว่า ความรักความเมตตา ความเห็น อกเห็นใจ ความอดกลั้นอดทน เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ อหิงสาก็เกิดไม่ได้ อหิงสา ต้องแสดงออกด้วยใจ วาจา และการกระทำ มหาตมาคานธีเองกล่าวว่า “เรา อาจไม่เข้มแข็งพอที่จะแสดงอหิงสาทางความคิด คำพูดและการกระทำ แต่เรา ต้องตั้งอหิงสาเป็นเป้าหมายและพยายามปฏิบัติอหิงสาให้ได้” (India Perspective : September-October ๒๐๐๙ : ๒๓) สรุปได้ว่า สันติภาพมีความหมายลึกซึ้งกว่าการสงบศึก และอหิงสามีความ หมายลึกซึ้งกว่าความไม่เบียดเบียน บ่อเกิดของสันติภาพและอหิงสาต้องมาจาก ใจ ซึ่งได้ควบคุมให้สงบ มีความรักความเมตตา ความอดกลั้น ให้อภัย เห็นอก เห็นใจผู้อื่น ทั้งสันติภาพและอหิงสาเกี่ยวโยงกัน และต้องปฏิบัติควบคู่กันจึงจะ สัมฤทธิ์ผล พระอภัยมณี ตัวเอกของเรื่อง เป็นโอรสของท้าวสุทัศน์ กษัตริย์ผู้ครองกรุง รัตนา พระอภัยมณีมิได้เลือกศึกษาที่จะเป็นนักรบที่เก่งกล้าเช่นตัวเอกใน วรรณกรรมอื่น แต่เลือกศึกษาวิชาดนตรี ส่วนพระอนุชาศรีสุวรรณเลือกศึกษา วิชากระบี่กระบอง ซึ่งท้าวสุทัศน์พระบิดาไม่พอพระทัยเพราะ “เป็นกษัตริย์ จักรพรรดิพิศดาร มาเรียนการเช่นนั้นด้วยอันใด” จึงกริ้วมากและขับไล่ออกจาก เมือง พระอภัยมณีและศรีสุวรรณต้องเสด็จออกป่าจนไปพบพราหมณ์โมรา สานน และวิเชียร พราหมณ์ทั้งสามสงสัยคุณประโยชน์ของดนตรี พระอภัยมณี ทรงอธิบายว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์ แม้ปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๑๒) แม้พระอภัยมณีจะไม่กล่าวถึงสันติภาพและอหิงสาโดยตรง แต่คุณสมบัติ ของดนตรีที่พระอภัยมณีบรรยายก็ชี้ให้เห็นว่าดนตรีสร้างความสงบสุขในใจแก่ สัตว์ มนุษย์ อมนุษย์ และเทวดาได้ ตลอดเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่นำดนตรี หรือเสียงปี่มาเป็นสัญลักษณ์ของความสงบและการละความโกรธแค้น หลายครั้ง พระอภัยมณีใช้เสียงปี่ระงับศึก ทำให้การฆ่าฟันกันสิ้นสุดลงและเกิดสันติภาพขึ้น แม้อาจเป็นการชั่วคราว สินสมุทโอรสพระอภัยมณีก็เรียนวิชาเป่าปี่จากพระบิดา และมีฝีมือคล้ายกัน เมื่อพระอภัยมณีโดยสารเรือท้าวสิลราชกับนางสุวรรณมาลี นางผีเสื้อทำให้ เรือล่ม พระอภัยมณีพลัดกับสินสมุทและนางสุวรรณมาลี ในที่สุดไปพบอุศเรน และโดยสารเรืออุศเรนจนพบกับเรือสินสมุท อุศเรนถือว่านางสุวรรณมาลีเป็นคู่ หมั้น จึงเจรจาขอให้ส่งนางแก่ตน แต่สินสมุทไม่ยอม จึงเกิดการต่อสู้กัน พระ อภัยมณีวางตัวเป็นกลาง เพราะอุศเรนมีบุญคุณที่ให้โดยสารเรือ เมื่อสินสมุทจับ อุศเรนได้ พระอภัยมณีทรงขอร้องให้สินสมุทปล่อยอุศเรน แสดงให้เห็นว่า พระ อภัยมณีเป็นตัวเอกที่รักสงบและยึดหลักอหิงสา “แล้วแก้มัดตรัสเรียกขึ้นร่วมอาสน์ พจนารถมิให้ช้ำระส่ำระสาย ไม่พอที่วิวาทกันวุ่นวาย ให้คนตายเสียเปล่าเปล่าไม่เข้าการ” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๓๐๔) สุดสาคร โอรสพระอภัยมณีกับนางเงือกถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว และ ขโมยม้ามังกรและไม้เท้ากายสิทธิ์ไป สุดสาครตามคืนมาได้ และห้ามเจ้าเมือง การะเวกมิให้สังหารชีเปลือย “ไม่หุนหันฉันทาพยาบาท นึกว่าชาติก่อนกรรมจะทำไฉน จะฆ่าฟันมันก็ซ้ำเป็นกรรมไป ต้องเวียนว่ายเวทนาอยู่ช้านาน” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๓๙๗) แม้สุนทรภู่จะมิได้ระบุชัดเจนว่าสุดสาครนับถือพระพุทธศาสนา แต่ถ้อยคำ ที่สุดสาครพูดมาจากหลักธรรมของพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องกรรมและการไม่จอง เวร ไม่พยาบาท ซึ่งก็คือยึดหลักอหิงสานั่นเอง เมื่ออุศเรนและเจ้าลังกายกทัพมาตีเมืองผลึก อุศเรนถูกจับได้ อุศเรนรู้สึก อับอายและพระอภัยก็ทรงเห็นใจ จึงตรัสปลอบว่า “จึงสุนทรอ่อนหวานชาญฉลาด เราเหมือนญาติกันดอกน้องอย่าหมองศรี” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๔๑๒-๔๑๓) เป็นที่น่าเสียดายที่อุศเรนไม่รับฟัง และนางวาลีก็แกล้งกล่าวยั่วอุศเรนจน รากเลือดตาย เพราะวาลีเชื่อว่า “ประเพณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๔๑๔) ผลปรากฏว่า นางวาลีถูกผีอุศเรนทำร้ายจนสิ้นชีพ เจ้าลังกาตรอมใจตาย เมื่ออุศเรนเสียชีวิต นางละเวง น้องสาวของอุศเรนจึงวางแผนทำศึกแก้แค้นแทน บิดาและพี่ชาย จึงเกิดสงครามยืดเยื้อกันต่อไป แม้ในเรื่องการศึกสงคราม สุนทรภู่จะเลียนแบบเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ บ้าง เช่น ตอนศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก จำนวน ๙ ทัพนี้เหมือนสงครามไทยรบกับ พม่าที่ยกมา ๙ ทัพ แต่รายละเอียดก็เป็นจินตนาการของสุนทรภู่ มิได้อิง ประวัติศาสตร์ เมื่อพระอภัยมณีนำทัพยกไปตีตอบโต้ที่เกาะลังกา เกิดการเพลี่ยงพล้ำจวน จะพ่ายแพ้ พระอภัยมณีจึงเป่าปี่ห้ามทัพให้ทุกฝ่ายหลับหมด เพลงปี่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความรักได้ระงับสงครามและ การล้มตายได้ระยะหนึ่ง แต่สงครามก็มิได้ยุติลงง่ายๆ ในที่สุดทิศาปาโมกข์โลก เชษฐ์ต้องตั้งพิธีเชิญฤษีเกาะแก้วพิสดารมาไกล่เกลี่ยและเทศน์ให้ฟังตอนหนึ่งว่า “อย่าโกรธขึ้งหึงสาพยาบาท นึกว่าชาติก่อนกรรมจะทำไฉน เหมือนดุมวงกงเกวียนวนเวียนไป อย่าโทษใครนี่เพราะกรรมจึงจำเป็น ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๘๘๔) เมื่ออ่านถึงตอนนี้ก็จะเห็นว่า นโยบายสมานฉันท์ในประเทศไทยยุคปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๓) ก็มาถูกทางแล้ว สันติภาพและอหิงสาจะเกิดขึ้นเมื่อเราระงับความ โกรธ ความอาฆาตพยาบาทลงเสียได้ ศาสนา ซึ่งในที่นี้เน้นความมีไมตรีปรานีกัน จะช่วยดับร้อนและยุคเข็ญได้ ในที่สุดพระอภัยมณีทรงตัดกิเลสแล้วออกบวช คำเทศนาของพระอภัยมณี ตอนหนึ่ง น่าจะให้ทุกคนฟังและจดจำไว้ : “ทรงแก้ไขในข้อปรมัตถ์ วิสัยสัตว์สิ้นพิภพล้วนศพผี ย่อมสะสมถมจังหวัดปัถพี ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย” (พระอภัยมณี, ๒๕๑๗ : ๑๒๗๑) พระอภัยมณีทรงอธิบายธรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งว่า ถ้ามนุษย์ทุกคนไม่ ลืมว่า เมื่อตายแล้วไม่อาจนำสมบัติที่สะสมไว้ติดตัวไปได้ สันติภาพและอหิงสา ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม รองศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ภาคีสมาชิก ประเภทวิชา วรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง บรรยายเรื่อง ความหมายของ “ริงเรือ และสำนวนดั้งเดิมของ “ผู้หญิงริงเรือ” ความโดยสรุปว่า กาญจนาคพันธุ์ กล่าวว่า ผู้หญิงริงเรือ เป็นสำนวนที่เกิดภายหลังสำนวน “ผู้ชายพายเรือ” และ เป็นสำนวนที่คู่กับ ผู้ชายพายเรือ และอธิบายว่าสำนวน ผู้ชายพายเรือ เพี้ยนมา
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy NTk0NjM=